ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คนในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปิดล้อมรัฐสภาในปี 51 เนื่องจากเห็นว่าเป็นไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฎิบัติการตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบแล้ว ซึ่งจำเลยไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต
ในคดีดังกล่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตกเป็นจำเลยที่ 1-4 กรณีร่วมกันสลายการชุมนุมและไม่ดำเนินการระงับยับยั้งเป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในเหตุการณ์ช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค.51 จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันสั่งการให้มีการเปิดทางเข้ารัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 176 เนื่องจากผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาที่จุดประตูเข้าออกทุกด้านถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักเท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนเหตุการณ์ในช่วงบ่ายและช่วงค่ำ กลุ่มผู้ชุมนุมกลับมาปิดล้อมรัฐสภา มีการปลุกระดมผู้ชุมนุมและจะบุกเข้ามาข้างในรัฐสภา จึงมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อเปิดทางช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความปลอดภัยแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือดังกล่าว
ขณะที่พยานทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแก๊สน้ำตายังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา แม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นนั้น เมื่อการชุมนุมยังไม่สงบเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ
ในขณะเกิดเหตุจำเลยจึงไม่อาจคาดเห็นได้ว่าแก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุม และข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่ามีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต จำเลยที่ 1-3 จึงไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
อนึ่ง ศาลได้เริ่มไต่สวนพยานหลักบานนัดแรกเมื่อวันที่ 8 เม.ย.59 โดยอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าไต่สวนทั้งหมดรวม 47 ปาก ซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ 15 ปาก ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ 32 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 21 นัด คดีเสร็จการไต่สวนเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.60
นายสมชาย กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังรับฟังคำตัดสินว่า รู้สึกทราบซึ้งใจที่สถาบันตุลาการเป็นที่พึงของประชาชนได้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาล โดยขณะนั้นที่หน้าอาคารศาลฎีกาฯ มีกลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมกันหลายสิบคนแสดงความไม่พอใจกับผลการตัดสิน พร้อมทั้งตะโกนและชูป้ายข้อความต่อว่านายสมชาย ท่ามกลางการดูแลสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น