พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการปฎิรูปทั้ง 11 ด้านที่ได้แต่งตั้งไปเมื่อวานนี้จะมีเวลาในการทำงานอีก 8 เดือนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปจะสอดคล้องไปกับการทำงานของรัฐบาล เพราะบางอย่างเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เลย และบางอย่างรัฐบาลต้องไปแก้ปัญหาร่วมกับข้าราชการและทุกภาคส่วน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการปฎิรูปทั้งหมด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปมาจากทุกภาคส่วน และจำเป็นต้องมีข้าราชการประจำเข้ามาร่วมด้วย เพราะจะทราบเรื่องของวิธีการและขั้นตอน และระเบียบทางราชการเป็นอย่างดี ซึ่งกลไกลการทำงานของคณะกรรมการฯ จะนำวาระการปฎิรูป 37 วาระ 118 เรื่อง มาสู่การจัดทำแผนเพื่อการปฎิบัติให้ไปสอดรับการการดำเนินงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะแต่งตั้งต่อไป
สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมืองที่จะต้องดำเนินการในเรื่องการสร้างความปรองดองนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนรวม หากนักการเมืองมีเจตนาบริสุทธ์ก็สามารถเข้ามาร่วมได้ เพราะมองว่า คณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นเวทีสร้างความปรองดองอีกเวทีหนึ่งที่ตนเองได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกคนให้กำลังใจในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการปฎิรูปประเทศทุกด้าน อยากให้ช่วยกันระดมความคิดเห็นนำไปสู่การปฎิบัติให้ได้
"ก็ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และจะใช้จ่ายให้ประหยัดที่สุด ก็คงมีแต่เบี้ยประชุมตามกติกาไม่มากมายอะไร ก็ขอเถอะ ลงทุนอย่างนี้ช่วยกันระดมความคิดเห็นไปสู่การปฏิบัติให้ได้ มันเป็นการลงทุนที่ไม่เสียเปล่า รัฐบาลต่อไปก็ต้องทำต่อไป อย่าไปมองว่า เราตีกรอบมากจนเกินไป ตีกรอบการทำงานให้เข้าร่องเข้ารอยเท่านั้นเอง แต่เขาจะทำวิธีไหนก็ไปว่ากัน แต่ต้องให้เข้าร่องเข้ารอยตามกฏหมาย ไม่มีใครจ้องจับผิดอยู่แล้ว เพราะประเทศชาติสำคัญที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางรากฐานให้กับประเทศให้ได้ เพราะการลงทุนในวันนี้ไม่อาจเห็นผลในวันนี้ทันที จะเกิดผลได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และอย่ามองว่าการตั้งคณะกรรมการปฎิรูปเป็นคนเดิมจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) .และ สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ที่ผ่านมาได้มีการคัดเลือกดูความเหมาะสมแล้ว และที่สำคัญยังมีคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ขอช่วยทำงานอยู่เบื้องหลัง และในอนาคต หากมีการขับเคลื่อนได้เกิดผลบุคคลเหล่านี้อาจตัดสินใจเข้ามาทำงาน เช่น ในรูปแบบคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านของรัฐบาลว่า เท่าที่ดูภาพรวมเป็นที่รู้จักและยอมรับของสังคม ซึ่งน่าจะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปได้ดี โดยการทำงานก็มีกฎหมายและกติกาที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ พร้อมกรอบเวลาจะต้องปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งต้องมีผลงานให้ประชาชนเห็น จับต้องได้ และพิสูจน์ได้ว่าบ้านเมืองมีการปฏิรูปก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่น เพราะการปฏิรูปก็จะนำไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องใช้ถึง 20 ปี อย่างไรก็ตามการทำงานก็จะเป็นการนำแนวคิดของการปฏิรูปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ศึกษาและเสนอไว้นำไปขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปได้จริงเป็นรูปธรรม
นายสุรชัย กล่าวว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้วไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องในการปฏิรูป เพราะต้องเป็นไปตามกฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูป ดังนั้นการทำงานไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงหรือสะดุด เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
อย่างไรก็ตามขอฝากไปยังกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านว่าจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปจึงจะทำให้การปฏิรูปบรรลุวัตถุประสงค์ และสำเร็จตามเป้าหมายได้ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ส.ว.มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกันหมด ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าการปฏิรูปจะขาดความต่อเนื่อง