ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบวาระ 3 ให้ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 199 คะแนน ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง โดยเห็นควรให้เซ็ตซีโร่ กสม.ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่า กสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
สำหรับบรรยากาศการประชุมมีการอภิปรายอย่างเข้มข้นตลอด 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะมาตรา 60 ว่าด้วยการดำรงอยู่ของ กสม.ชุดปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม.ฉบับใหม่ประกาศใช้ โดยการอภิปรายแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้
กลุ่มของ กรธ.นำโดยนางจุรี วิจิตรวาทการ กรธ.ที่เสนอให้ กสม.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งไปทั้งหมด แต่ให้รักษาการจนกว่าจะมี กสม.ชุดใหม่ เนื่องจากการได้มาซึ่ง กสม.ชุดปัจจุบันไม่ได้มีความหลากหลายทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักการปารีสอันเป็นหลักการสากล กลุ่มสมาชิก สนช.นำโดยนายกล้านรงค์ จันทิก พร้อมด้วยนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการ กสม.ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญที่ต้องการให้ กสม.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ เพราะ กสม.ได้รับการสรรหาตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ที่ 45/2557
กลุ่มของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ที่มี พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล เป็นประธาน ได้แก้ไขมาตรา 60 โดยกำหนดให้ประธาน กสม.และ กสม.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบ 3 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่อาจหาข้อสรุปในมาตรา 60 ได้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. จึงได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที ภายหลังพักประชุมเพื่อหารือร่วมกันในประเด็นข้างต้น กมธ.มีมติเห็นควรให้กลับไปใช้เนื้อหามาตรา 60 ตามที่ กรธ.เสนอ คือ ให้ประธาน กสม.และ กสม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธาน กสม.และ กสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาการสรรหา กสม.ชุดใหม่ให้เสร็จภายใน 320 วัน
สำหรับขั้นตอนต่อไปจะส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ กรธ.และ กสม.พิจารณาต่อไป เพื่อให้พิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วมกัน 3 ฝ่ายหรือไม่