นับถอยหลังอีกคดีประวัติศาสตร์ทางการเมือง 25 ส.ค.60 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตรับจำนำข้าวที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย และคดีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยร่วมกับข้าราชการการเมือง ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนรวม 28 ราย
ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่คดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ หญิงคนแรกของไทยตกเป็นจำเลย หลังถูกกล่าวหาว่าโครงการจำนำข้าวเป็นการทุจริตเชิงนโยบายจนสร้างความเสียหายต่อชาติหลายแสนล้านบาท ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การรัฐประหารยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57
โครงการรับจำนำข้าวถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเมื่อกลางปี 54 และหลังชนะการเลือกตั้งแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภาและเริ่มดำเนินโครงการ จนกระทั่งถูกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบ
ลำดับขั้นตอนที่มาของคดี - 5 มิ.ย.56 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบทุจริตการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว
- 16 ม.ค.57 ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากอาจมีมูลความผิดกรณีละเว้นต่อหน้าที่ที่จะยุติความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว แม้จะมีข้อท้วงติงแล้วแต่ละเลยไม่ยับยั้ง
- 27 ก.พ.57 ป.ป.ช.เชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มารับทราบข้อกล่าวหากรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดการทุจริต และสร้างความเสียหายต่อประเทศ
- 17 ก.ค.57 ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาฯ เพื่อดำเนินคดีในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนส่งผลให้เกิดการทุจริตโครงการระบายข้าวและการรับจำนำข้าว จนเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
- 23 ม.ค.58 อัยการสูงสุดมีมติให้สั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบในโครงการรับจำนำข้าว
- 19 มี.ค.58 ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี และนัดพิจารณาครั้งแรกวันที่ 19 พ.ค.58 โดยเริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 ม.ค.59
- 21 ก.ค.60 ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวนพยานนัดสุดท้าย โดยมีการไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิ้น 26 นัด รวม 45 ปาก และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.60
ในที่สุดขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมดำเนินมาถึงวันที่ 1 ส.ค.60 น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจา โดยสรุป 6 ประเด็นแก้ข้อกล่าวหา คือ 1.ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ป.ป.ช.เร่งรวบรัดชี้มูลความผิด 2.นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา 3.ไม่ได้เพิกเฉย ละเลย ให้เกิดการทุจริต การดำเนินโครงการเป็นไปตามกฎหมาย มีกระบวนการขั้นตอนที่ศึกษาไว้รอบคอบแล้ว
4.การไม่ระงับยับยั้งเพราะเป็นโครงการที่ประโยชน์ สามารถช่วยยกระดับชีวิตของเกษตรกร และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง 5.ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริต และ 6.ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
ขณะที่พนักงานอัยการในฐานะโจทก์แถลงปิดคดีนี้ว่า โครงการจำนำข้าวสร้างความเสียหายจากการตรวจสอบพบการทุจริต และขาดทุน ส่งผลให้มีหนี้ค้างชำระต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวนมาก การเสื่อมคุณภาพของข้าว รวมถึงปัญหาการไม่ให้ความสำคัญจริงต่อการติดตาม เร่งรัด และกระบวนการประเมินผลโครงการนี้ รวมถึงปัญหากรณีทุจริต และความไม่โปร่งใส
โครงการนี้มีปัญหาหลายประการ เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิเกษตรกร การแจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการปลูกข้าว ปัญหาการรับมอบข้าวเปลือก โรงสีตรวจสอบคุณภาพไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จนเกิดช่องให้มีการหมุนเวียนข้าว ปัญหาการจัดเก็บข้าวสารในโกดังที่ การสับเปลี่ยนข้าว และข้าวหาย นอกจากนั้น การขายข้าวแบบจีทูจีเพื่อเร่งระบายสต็อกข้าวยังพบพฤติกรรมมีเงื่อนงำ และเกิดช่องในการทุจริตเชิงนโยบาย
แต่จากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพิจารณากันอย่างเข้มงวด จริงจัง และตรวจสอบค้นคว้าวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาความเสียหายและการทุจริตต่าง ๆ ตามที่ สตง. ป.ป.ช. ธ.ก.ส. และอีกหลายหน่วยงานของรัฐได้ท้วงติงมาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นักวิชาการด้านการเมืองรายหนึ่ง ระบุว่า ยังไม่อาจคาดเดาผลของคดีนี้ได้ เพราะมองว่าสามารถออกได้ทุกทาง แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ และวันที่ 25 ส.ค.จะยังไม่ถึงจุดแตกหัก เพราะคู่ความยังมีความหวังที่จะอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะหนทางตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 195 วรรคสี่ ให้โอกาสคู่ความสามารถต่อสู้คดีได้อีกเฮือกหนึ่ง
"คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา"
นักวิชาการ ระบุว่า กรณีนี้คงเหมือนคดีสลายม็อบปี 51 และเชื่อว่าคู่ความฝ่ายใดแพ้คดีครั้งนี้ก็คงต้องยื่นอุทธรณ์อย่างแน่นอน ซึ่งต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะมีมติออกมาอย่างไร
ส่วนสถานการณ์บ้านเมืองนั้น หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าคงแค่เกิดแรงกระเพื่อม แต่ไม่ถึงขั้นเกิดเหตุวุ่นวายเหมือนในอดีต เพราะเชื่อว่าพลังและอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสามารถดูแลและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่สิ่งที่หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องระวังคือ การนำผลของคดีไปเป็นประเด็นใช้ปลุกระดมทางการเมืองว่าโดนรังแกเพราะช่วยคนจน เนื่องจากมีเกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้เป็นจำนวนมาก
ขณะที่ความเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายสนับสนุน โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง และฝ่ายเจ้าหน้าที่ในฐานะหน่วยรักษาความปลอดภัย ต่างฝ่ายต่างโหมกระแสต่อเนื่องก่อนถึงวันดีเดย์ 25 ส.ค.หน่วยความมั่นคงมีการประเมินมวลชนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจ 2,500-3,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล รวมถึงมวลชนจากภาคเหนือและอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีกระแสข่าวว่าภรรยาของนายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร พร้อมด้วยแกนนำศูนย์ปราบโกงอีก 2 คน เตรียมเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 ส.ค.นี้
ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช.ออกมาปรามผู้ที่จะออกมานัดชุมนุมเคลื่อนไหวให้ล้มเลิกความคิด โดยประกาศจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะคงไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวายเหมือนในอดีตขึ้นมาอีก
ภารกิจดังกล่าว คสช.มอบให้เป็นหน้าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดใหญ่จัดหนักเตรียมกำลังตำรวจ 24 กองร้อย กั้นพื้นที่แค่ 1,500 เมตรให้กองเชียร์ที่มาให้กำลังใจ วางแผงเหล็กทำขอบเขตไม่ให้ลุกล้ำเขตอำนาจศาล เตรียมบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้เป็นหลักฐานหากมีผู้บุกรุกและก่อเหตุวุ่นวาย และจัดเตรียมรถควบคุมฝูงชน 20 คัน เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ รถพยาบาล 4 คัน เป็นต้น เรียกว่ายิ่งใหญ่
ทั้งนี้ ผลโพลของชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองต่อการตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าวที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ในหมู่ประชาชน โดยอยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงออกมาสร้างความมั่นใจถึงความพร้อมที่จะควบคุมดูแลสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองหลังการตัดสินคดีจะแย่ลงไปกว่าเดิม
คดีการเมืองเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์บ้านเมืองหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองและท้าทายความสามารถในการทำงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงภายใต้การกำกับดูแลของ คสช.อีกครั้งหนึ่ง