นักวิชาการ มอง"ยิ่งลักษณ์"ล่องหนเพิ่มแรงกดดัน คสช.เชื่อไม่กระเทือน"เพื่อไทย"

ข่าวการเมือง Tuesday August 29, 2017 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ล่องหนไปอย่างไร้ร่องรอยในวันนัดฟังคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา นักวิชาการมองว่าเหตุการณ์นี้ทำให้การเมืองไปเพิ่มแรงกดดันต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กลับปล่อยให้"ยิ่งลักษณ"หายตัวไป แต่เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนายทุนพรรค โดยต่างรอดูผลคำพิพากษาคดีรับจำนำข้าวของศาลฎีกาฯ ที่เลื่อนเป็น 27 ก.ย.นี้

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการทางการเมือง กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การเมืองเปลี่ยน น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาเป็นฝ่ายรุก เพราะจะมีกระแสกดดันต่อ คสช.ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์หายตัวไปไหน พร้อมกระแสข่าวการเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศย่อมจะต้องรอจนกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะออกมาปรากฎตัวต่อสาธารณชนว่าอยู่ที่ไหน

"เรื่องนี้อ่านเกมยาก วิเคราะห์ยาก ทีแรกผมยังไม่คิดว่าจะหนี แต่ก็ยังไม่เห็นท่าทีของยิ่งลักษณ์ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป" นายสุขุม กล่าว

สำหรับสถานการณ์ภายในพรรคเพื่อไทยนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ตราบใดที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังหลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศคงให้การสนับสนุนเป็นนายทุนพรรคต่อไปเหมือนเดิม ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยไม่น่าเกิดปัญหาแพแตกอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งคงต้องรอดูท่าทีของนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเมื่อสองพี่น้องพบกันแล้วจะมีท่าทีอย่างไร

"ชื่อของพรรคเพื่อไทยและทักษิณยังขายได้ ไม่มีปัญหาแพแตก ตราบใดที่ยังเป็นนายทุนให้อยู่" นายสุขุม กล่าว

ขณะที่นายณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวถึงทิศทางทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยว่า การหลบหนีไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เชื่อว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความนิยมในตัวพรรคเพื่อไทยให้ลดลงไป ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ช่วยสร้างกระแสความนิยมให้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

เนื่องจากมองว่าพฤติการหลบหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้จะทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางส่วนอาจจะเสียความรู้สึกหรือผิดหวังไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ต้องเปลี่ยนขั้วกลับไปให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผู้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้น ลึกๆ แล้วต่างก็เป็นผู้ที่ไม่ชื่นชอบหรือไม่นิยมแนวนโยบายหรือการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

“คงอาจจะมีผู้ที่ไม่พอใจอยู่บ้าง แต่คงไม่ถึงกับต้องเปลี่ยนขั้วไปชอบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่ได้มีเหตุอะไรที่ร้ายแรงจนทำให้ต้องเปลี่ยนขั้วไปสนับสนุนอีกฝ่าย ซึ่งคนที่ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย ลึกๆ แล้วก็คือคนที่ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์” ประธานสวนดุสิตโพลระบุ

พร้อมมองว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 61 นั้น หากพรรคเพื่อไทยยังคงชูนโยบายที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนรากหญ้า ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคดังเช่นที่ผ่านมา ก็จะยังทำให้พรรคเพื่อไทยยังคงเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวของพรรคประชาธิปัตย์ และเวทีการเมืองไทยก็จะยังคงเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่เช่นเดิม

“นโยบายที่เป็นลักษณะประชานิยมก็ยังคงต้องมีอยู่ต่อไป ในเรื่องการจำนำ หรือการประกันราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา เพราะเหล่านี้ถือสินค้าการเมือง...เพื่อไทยก็จะยังคิดนโยบายในลักษณะนี้เพื่อช่วยเหลือคนรากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ และเป็นฐานเสียงหลักของพรรค” นายณัฐพลกล่าว

ส่วนทายาททางการเมืองที่จะมาเป็นผู้นำคนใหม่ของพรรคเพื่อไทยนั้น ประธานสวนดุสิตโพล มองว่า คงยากที่จะเป็นคนในตระกูลชินวัตร แต่หากจะให้คาดเดาผู้ที่จะถูกวางตัวเป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยคนใหม่ในตอนนี้คงยากที่จะคาดเดาได้ แต่เห็นว่าไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารสั่งการหรือกุมบังเหียนพรรคก็ยังเป็นคนเดิมที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าใคร

“พรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะใครจะขึ้นมาเป็นหัวหน้า ก็คงต้องมีแนวทางการบริหารจัดการไว้อยู่แล้ว จะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือไม่นั้น ก็ยังเป็นแค่กระแสข่าว คนที่ไม่รู้ก็คาดเดาไปต่างๆ นานา ส่วนคนที่รู้ เขาก็คงไม่พูด” ประธานสวนดุสิตโพล กล่าว

ด้านนายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากทางคสช. ยังไม่ปลดล็อคเพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ

ส่วนความคืบหน้าของคดีรับจำนำข้าวคงต้องรอความชัดเจนของคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ก่อนว่าจะมีแนวทางเป็นอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ