ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ยื่นอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 51 ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เฉพาะในส่วนของ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จำเลยที่ 4 รายเดียว
นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า ตามที่ศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม.154/2560 ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จำเลยที่ 1 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จำเลยที่ 2 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จำเลยที่ 3 พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จำเลยที่ 4 กรณีจำเลยทั้งสี่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมในพื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน บริเวณถนนพิชัย บริเวณถนนสุโขทัย บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณใกล้เคียงในท้องที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยใช้อาวุธร้ายแรงปราบปรามประชาชนเป็นเหตุให้ประชาชนที่กำลังชุมนุมถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่นั้น
"ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ สำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 (โดยที่ประชุมเสียงข้างมากจำนวน 7 เสียง เสียงข้างน้อยจำนวน 1 เสียง และงดออกเสียง จำนวน 1 เสียง) และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 (โดยที่ประชุมเสียงข้างมากจำนวน 8 เสียง และงดออกเสียง จำนวน 1 เสียง)" นายสุรศักดิ์ กล่าว
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การที่จำเลยที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจหน้าที่สั่งการและบังคับบัญชาข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาการความสงบ (กรกฎ/48) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่สั่งการและบังคับบัญชานายตำรวจอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยในการทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ย่อมทราบถึงสถานการณ์การใช้แก๊สน้ำตาโดยตลอดช่วงเวลาการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ช่วงเช้า ช่วงบ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาพลบค่ำขณะรักษาความปลอดภัยให้แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาลอันเป็นบริเวณที่เกิดเหตุ โดยเป็นผู้สั่งการหรือรู้เห็นยินยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับรองลงไปสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติยิงหรือขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์สมควรประเมินสถานการณ์และระงับยับยั้งเหตุการณ์ เพื่อบรรเทาหรือป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมเพิ่มเติม การที่จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีคำสั่งระงับยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้แก๊สน้ำตาต่อผู้ชุมนุม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
"ที่ประชุมฯ จึงมีมติให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เฉพาะจำเลยที่ 4 ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา ทั้งนี้ตามมาตรา 195 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป" นายสุรศักดิ์ กล่าว