นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องมายังฯพณฯนายกรัฐมนตรี ได้โปรดสั่งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบและเอาผิดลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการไปสร้างกิจกรรม “ผักชีโรยหน้า" สร้างภาพหลอกลวงประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเสียโดยเร็ว และขอเรียกร้องให้หยุดการจัดประชุม ครม.สัญจร ได้แล้วเพราะการลงพื้นที่ของ ครม.และหรือนายกรัฐมนตรีแต่ละครั้งจะต้องมีการใช้ทหารและตำรวจมาอารักษาถึง 2-3 พันคนต้องสูญเสียงบประมาณเบี้ยเลี้ยงและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เป็นภาษีของประชาชนจำนวนมากให้กับบุคลากรเหล่านี้ เพียงเพื่อมาสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อไปวันๆเท่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องไปทำเสแสร้งอยากใกล้ชิดประชาชน
การออกแถลงการณ์ดังกล่าว สืบเนื่องจากมีชาวบ้านหมู่ 14 ต.หนองม่วง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ร้องเรียนว่าภายหลังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมามอบหนังสืออนุญาตให้สถาบันเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ สปก. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 60 ที่ผ่านมาโดยจัดสรรให้เกษตรผู้ยากไร้ รายละ 6 ไร่ แยกเป็นแปลงที่อยู่อาศัย 1 ไร่ แปลงเกษตรกรรม จำนวน 5 ไร่ รวม 65 ราย ซึ่งมีการสร้างถนนทางเข้าหมู่บ้าน ทำระบบประปา โดยสูบน้ำบาดาลมาใช้ได้ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดน้ำจากวาล์วปิด-เปิดประปาให้น้ำไหลเข้าสู่แปลงเกษตรกรรม ส่วนไฟฟ้าได้ติดตั้งเสาไฟฟ้าตลอดข้างทางเข้าไปในหมู่บ้าน สามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้ตามปกติ แต่หลังนายกรัฐมนตรีกลับไปแล้วเพียงข้ามคืน เสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าถูกรื้อกลับหมด น้ำประปาถูกตัดขาด ชาวบ้านไม่มีน้ำรดต้นไม้และพืชผักที่ปลูกไว้ เริ่มเหี่ยวเฉา วัวโครงการโคบาลบูรพาที่เลี้ยงไม่มีน้ำให้กิน กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมว่าการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้มีลักษณะพฤติกรรม “ผักชีโรยหน้า" ของระบบราชการไทยนั้น
กรณีดังกล่าวไม่ใช่เป็นกรณีแรกของสังคมไทย ที่เหล่าข้าราชการส่วนใหญ่จะใช้เป็นกลวิธีหลอกลวงสาธารณะเพื่อสร้างภาพให้ผู้บริหารประเทศหรือผู้บังคับบัญชาผิดหลงต่อความจริงว่านโยบายของตนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้เกิดมรรคผลอันดีเลิศประเสริฐศรีแล้ว และสามารถเอาไปคุยโม้โอ้อวดหลอกประชาชนได้เต็มที่ แต่ในที่สุดความจริงก็คือความจริง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของระบบราชการไทยได้ชัดเจนที่สุดในยุคนี้ พ.ศ.นี้
นอกจากนี้พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นการปกปิดข้อมูลข่าวสารสาธารณะอันเกี่ยวเนื่องจากการจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 59 ประกอบมาตรา 73 และเข้าข่ายความผิดอาญามาตรา 343 ประกอบมาตรา 341 และ 342(2) แห่งประมวลกฎหมายอาญาโดยชัดแจ้งที่ว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน" ซึ่งมีโทษทางอาญาค่อนข้างสูงด้วย