สนช.เห็นชอบกม.เซ็ตซีโร่กสม.ตามที่กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเสนอ หวังปรับโครงสร้างให้สอดคล้องสภาพสังคม

ข่าวการเมือง Thursday September 14, 2017 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง และตามขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ มาตรา 60 ว่าด้วยการให้ประธาน กสม.และ กสม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกสม. และกสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการอภิปรายในมาตรา 60 นายวัส ติงสมิตร ประธานกสม. แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโร่ กสม. โดยระบุว่า การกำหนดเนื้อหาตามมาตรา 60 ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะการจะให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเหมือนเช่นรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 50 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่มีปัญหาการตีความในข้อกฎหมาย

พร้อมเห็นว่า การพิจารณาปัญหานี้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกรณีของกสม.เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วไม่ได้เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด เพราะการจะให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง จะต้องคุ้มครองความสุจริตของ กสม.ที่เข้ามาในตำแหน่งตอนแรกที่รู้ว่าจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีด้วย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 60 ด้วยการกำหนดให้คนที่ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะรายไป

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงว่า สาเหตุที่รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติไว้เช่นนี้ เนื่องจากในอดีตเรามีปัญหามากมาย จึงต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศไทยตามคำปรารภในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน กรธ.ได้ศึกษารายงานของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Sub-Committee on Accreditation หรือ SCA) ซึ่งได้เตือนไทยว่า สถานะของ กสม.จะถูกลดลง หากยังไม่สามารถทำตามหลักการปารีสภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุมาจากกระบวนการสรรหา กสม.ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ไม่มีความหลากหลาย พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้ กสม.ปฏิบัติตามข้อกังวลดังกล่าวด้วย

"เหตุผลเหล่านี้ ทำให้ กรธ.ต้องเร่งแก้ไขปัญหา และการกำหนดเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการให้กฎหมายมีผลย้อนหลังที่เป็นโทษ แต่อย่างใด เพราะในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้อยู่แล้ว" นายปกรณ์ กล่าว

ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ภายหลังที่ประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ได้พิจารณาข้อโต้แย้งของ กสม.ทั้ง 6 ประเด็นข้างต้นแล้ว เห็นว่าข้อโต้แย้งที่ส่งมาตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีเพียงประเด็นเกี่ยวกับกรรมการสรรหา ที่แก้ไขข้อความในมาตรา 11 วรรค 5 ให้คณะกรรมการสรรหา ต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย จากเดิมที่กำหนดให้การทำหน้าที่ของกรรมการสรรหา เมื่อครบกำหนดการสรรหาแล้วหากยังได้กรรมการสรรหาไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ให้กรรมการสรรหาเท่าที่สรรหาได้ทำหน้าที่ได้ทันที ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเมื่อครบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ยังไม่มีหรือยังไม่ได้คณะกรรมการสรรหาครบตามจำนวน ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ เริ่มกระบวนการสรรหาเพิ่มภายใน 30 วัน และหากพ้นจาก 30 วันไปแล้ว ยังไม่ได้คณะกรรมการสรรหาในส่วนที่ขาด ให้คณะกรรมการสรรหาที่มีอยู่ ทำหน้าที่ไปพลางได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ