โพลเผยคนส่วนใหญ่สนับสนุนถึงสนับสนุนมากที่สุดให้นายกฯเยือนสหรัฐฯ,ต้องการเลือกตั้งแล้ว ไม่เกินเดือน ก.ย.ปีหน้า

ข่าวการเมือง Sunday September 17, 2017 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลโพล เรื่อง การไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีและความอยากเลือกตั้งของประชาชน

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลสำรวจโพล เรื่อง การไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีและความอยากเลือกตั้งของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,480 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 5 – 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ไม่ทราบข่าวนายกรัฐมนตรีจะไปเยือนสหรัฐอเมริกา มีเพียงร้อยละ 24.6 เท่านั้นที่ทราบข่าว

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4 คิดว่าการไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีจะทำให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเป้าหมายผลประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยต้องการได้จากการเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 56.8 ระบุการส่งเสริมธุรกิจ การค้าการลงทุน รองลงมา หรือร้อยละ 48.4 ระบุ ด้านการศึกษา ร้อยละ 31.4 ระบุความปลอดภัยในทุกที่ทุกเวลาของประชาชน และร้อยละ 31.4 เช่นกัน ระบุการคุ้มครองและสวัสดิภาพ แรงงาน ร้อยละ 29.1 ระบุการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ที่น่าพิจารณาคือ ประโยชน์ด้านการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ในความสนใจอันดับต้นๆ แต่ ตกอยู่ในอันดับที่ 6 ของความสนใจประโยชน์จากการเยือนสหรัฐอเมริกา คือร้อยละ 27.7 และการทหาร ร้อยละ 22.2 และสุขภาพอนามัย ร้อยละ 18.0 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.6 ต้องการประชาธิปไตยแบบไทยๆ เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ในขณะที่เพียงร้อยละ 40.4 ระบต้องการประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.6 สนับสนุนถึงสนับสนุนมากที่สุดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไป สหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ในขณะที่ร้อยละ 34.4 ไม่สนับสนุน

ที่น่าสนใจคือ ประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.1 ต้องการเลือกตั้งแล้วโดยไม่เกินเดือนกันยายนปีหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ค้นพบว่าประชาชนต้องการการเลือกตั้งแล้วไม่เกินภายใน 1 ปีนับจากนี้ ในขณะที่ร้อยละ 44.9 อยากให้เลือกตั้งหลังจากนั้นเป็นต้นไป

โดยพรรคการเมืองที่ประชาชนตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า อันดับแรก เป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ร้อยละ 32.6 รองลงมา กลายเป็นพรรคอื่นๆ เช่น พรรคการเมืองเกิดใหม่ พรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไป อยู่ที่ร้อยละ 27.8 ในขณะที่ พรรคเพื่อไทย ที่ยังไม่ชัดเจนใครจะเป็นหัวหน้าพรรค อยู่ที่อันดับสาม คือร้อยละ 19.1 และที่เหลือร้อยละ 20.5 ระบุไม่เลือกพรรคการเมืองใดเลยและรวมถึงกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ

นายนพดล กล่าวต่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่กำลังต้องการการเลือกตั้งแล้วและเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ชัดเจนว่าไม่เกินเดือนกันยายนปีหน้า พรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคกำลังขึ้นอยู่ในอันดับแรกของความตั้งใจของประชาชนถ้าจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วอันเป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้เพราะพรรคเพื่อไทยยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นหัวหน้าพรรคในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ทำให้ พรรคเล็กพรรคน้อย พรรคเกิดใหม่ พรรคขนาดกลางรวมๆ กันขึ้นมาอยู่ในอันดับที่สองของความตั้งใจจะเลือกของประชาชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปเปรียบเทียบแนวโน้มของการแข่งขันทางการเมืองภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ในอนาคตอันใกล้

“โจทย์ที่คิดต่อจากนี้ไปคือ เมื่อได้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและมีพรรคที่ครองใจคนจนได้เป็นอันดับหนึ่งนั้นจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ และรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารจะบริหารไปทิศทางใดภายใต้โครงสร้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลการศึกษาเจาะลึกเบื้องต้นพบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ ยังไม่รู้ ว่าจะเดินไปทางไหน อะไรจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและการสนับสนุนของสาธารณชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ" ผ.อ. ซูเปอร์โพล กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ