พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงจากอุทกภัย ภัยแล้ง และน้ำเค็ม จากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เสียงรวม 84 ล้านไร่ คิดเป็น 26% ของพื้นที่ทั้งประเทศ แยกเป็น พื้นที่เสี่ยงจากอุทกภัย 45 ล้านไร่ คิดเป็น 14% ของพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด, พื้นที่เสี่ยงจากภัยแล้ง 38 ล้านไร่ คิดเป็น 12% ของพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด
สำหรับพื้นที่ภาคกลางที่เป็นพื้นที่เสี่ยงจากอุทกภัย 3.8 ล้านไร่ และภัยแล้ง 4.1 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาตามแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกันเป็นระยะทาง 230 กิโลเมตร
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการตามแผนบริหารบริการจัดการน้ำระยะที่ 1 (57-60) ที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จภายในปี 61 ส่วนแผนบริหารบริการจัดการน้ำระยะที่ 2 (61-62) มีการเสนอโครงการทั้งสิ้น 952 โครงการ ใช้งบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ทั้งประเทศ โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 6.3 แสนไร่ มีปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาภัยแล้งได้เพิ่มขึ้น 7 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยวันนี้ได้มีการเสนอโครงการเพิ่มเติมเข้ามาอีก 109 โครงการ ใช้งบประมาณกว่า 6 พันล้านบาท มีพื้นที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติม 7 แสนไร่ มีปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาภัยแล้งได้เพิ่มขึ้น 8 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นของกรมชลประทานและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนที่สองเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพระบาย, การบริหารจัดการน้ำที่อยู่นอกพื้นที่คันกั้นน้ำ, การทำคลองระบายน้ำเพิ่มเติมในช่วงที่มีน้ำเหนือหลาก และการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง
"เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงพอสมควร ดังนั้นเพื่อให้เกิดความรัดกุมในการอนุมัติโครงการ ที่ประชุมฯ จึงขอให้เลขา กนช.รวบรวมแผนงานในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 (63-69) ไปพิจารณาในรายละเอียดอีกรอบเพื่อเสนอให้ กนช.พิจารณา และหากเป็นไปได้อยากให้เสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า หรืออย่างช้าไม่เกินถัดไปอีกหนึ่งสัปดาห์" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว