นายกฯ เผยเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศเต็มที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3 รูปแบบ

ข่าวการเมือง Thursday September 21, 2017 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ดิจิทัลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย 4.0" ว่า รัฐบาลพยายามพัฒนาดิจิทัลให้รวดเร็วและทันสมัย ด้วยความร่วมมือไว้เนื้อเชื่อใจกัน นำไปสู่การเข้าถึงใช้ประโยชน์ดิจิทัลอย่างรวดเร็วนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0.

รัฐบาลได้ขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การลดความเลื่อมล้ำ สร้างโอกาสด้วยการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ หรือการขยายอินเตอร์เนตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศให้เชื่อมโยงโรงเรียนโรงพยาบาล ซึ่งในปี 61 จะต้องดำเนินการให้คลอบคลุมทั้ง 74,700 หมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นช่องทางนำสินค้าชุมชนมาจำหน่ายในตลาดออนไลน์ โดยตั้งเป้าว่าในปี 61 จะมีสินค้าชุมชนออกจำหน่าย 50,000 รายการ สร้างรายได้ให้แต่ละชุมชนถึง 300,000 บาท/ปี ซึ่งโครงการนี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอย่างที่มีการกล่าวหา

อีกทั้งจะมีการสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นเกษตรดิจิทัลและขยายผลช่วยคนไทยกว่า 17 ล้านคนที่ยึดอาชีพเกษตรกร เพื่อขายผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการพัฒนา อี เฮล (E Health) ที่ช่วยให้แพทย์จากชุมชน สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศูนย์ในเมืองได้ และพัฒนาบริการสุขภาพทางออนไลน์ เป็นต้น

2.สร้างนวัตกรรมดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านโครงการดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ในอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางการลงทุน และการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิตัลในภูมิภาค และเป็นการดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้มาลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งรัฐบาลได้มอบสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนที่สนใจด้วยการออกมาตรการต่างๆ ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างสมาร์ทซีตี้ เมืองนวัตกรรม ใน 7 จังหวัดให้แล้วเสร็จในปี 61 และครอบคลุม 77 จังหวัด ในปี 64

และ 3. ด้านการเชื่อมโยงไทยไปสู่โลก โดยรัฐบาลจะมีการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือกับต่างประทศทั้งกายภาพและแนวปฏิบัติ เช่น การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เนตระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน และจะมีการร่วมมือในด้านต่างๆ กับหลายองค์กร เพื่อทำให้ไทยมีความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ และเร่งสร้างบุคคลากรที่มีความเชียวชาญทางทางดิจิทัลกว่า 1,000 คน มาดูแลเฝ้าระวังแก้ปัญหาโครงข่ายทางไซเบอร์ ซึ่งจะทำให้แล้วเสร็จในปีหน้า

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะพยายามทำให้ดีที่สุดในการพัฒนาดิจิทัล แม้ในช่วงแรกจะติดขัดและมีปัญหา และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่เชื่อว่าในอนาคตทุกคนจะได้รับประโยชน์จากดิจิทัลได้ ดังนั้นขออย่าเพิ่งตำหนิ แต่ควรที่จะเข้ามาร่วมมือกันในการพัฒนาในด้านนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ