โพลล์ชี้คนไทยอยากให้เกิดความปรองดองก่อนเลือกตั้ง หากพลาดจากโรดแมพกระทบความเชื่อมั่น

ข่าวการเมือง Saturday September 23, 2017 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ปรองดองสู่เลือกตั้งหรือเลือกตั้งสู่ปรองดอง จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 15 ก.ย.60 ว่า "....ทั้งนี้เมื่อทุกอย่างลงตัวกระบวนการด้านกฎหมายมีความพร้อมทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ มีความปรองดองเราก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า" โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.3 มีความเห็นว่าเป็นการให้ประชาชนตระหนักถึงการร่วมมือกันสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง รองลงมาร้อยละ 16.3 เห็นว่าเป็นการพูดเฉยๆ ไม่ได้แฝงนัยใดๆ และร้อยละ 15.6 เห็นว่าเป็นการบอกกลายๆ ว่าปีหน้าอาจไม่มีการเลือกตั้ง

ขณะที่ประชาชนสวนใหญ่ร้อยละ 58.4 มองว่าความปรองดองคือ การจัดการกับความขัดแย้ง ประชาชนรักใคร่กลมเกลียวไม่แบ่งฝ่ายแบ่งสี รองลงมาร้อยละ 48.2 คือการเคารพในกฎกติกาทางการเมือง ไม่ใช้ความรุนแรง สร้างสถานการณ์ และร้อยละ 41.6 คือการให้อภัยกันในสิ่งที่เคยเกิดความขัดแย้ง

สำหรับความเหมาะสมในการจัดให้มีการเลือกตั้งตามความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 54.2 ระบุว่าต้องการให้ปรองดองสำเร็จก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง ขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุว่าต้องการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปรองดอง ส่วนที่เหลือร้อยละ 28.5 ระบุว่าแบบใดก็ได้ขอให้ได้เลือกตั้ง

ส่วนความกังวลว่าจะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหากไม่มีการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมพนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.6 ระบุว่าไม่กังวล ขณะที่ร้อยละ 41.6 ระบุว่ากังวล ส่วนที่เหลือร้อยละ 11.8 ระบุว่าไม่แน่ใจ

หากการเลือกตั้งจำเป็นต้องเลื่อนออกไป โดยไม่เป็นไปตามโรดแมพ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.0 มีความเห็นว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 40.0 มีความเห็นว่าส่งผลค่อนข้างน้อยถึงไม่ส่งผลเลย

หากมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีกภายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 40.5 มีความเห็นว่าควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการ รองลงมาร้อยละ 28.5 เห็นว่าควรต้องจัดการปรองดองกันอีกรอบโดยหาคนกลางเข้ามาช่วยและร้อยละ 26.5 เห็นว่าคงต้องยอมให้ทหารเข้ามาจัดการอีกครั้ง

ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องดังกล่าว โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,100 คน ช่วงวันที่ 19-21 ก.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ