นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ไปให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) แล้ว ซึ่ง สนช.จะนัดพิจารณาวาระรับหลักการในวันที่ 28 ก.ย.นี้
สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่หลักในการพิจารณาคดีว่าด้วยความชอบของรัฐธรรมนูญในกฎหมายต่างๆ การดูแลองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่ามีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตลอดจนปัญหาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
และหน้าที่ใหม่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ ให้คำปรึกษาข้อสงสัยขององค์กรที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้ก่อนที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างองค์กร เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจนบานปลายในอดีต เช่น กรณีเห็นต่างกันระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557
"ในร่างนี้ กรธ.กำหนดให้มีตุลาการ 9 คน มีองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 7 คนในการทำหน้าที่ สำหรับบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวพันถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมนั้น กรธ.ยังยืนยันใช้หลักรีเซ็ต หรือให้คนเดิมที่มีคุณสมบัติครบตามรัฐธรรมนูญอยู่ต่อไปได้ ตามหลักที่ กรธ.ใช้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่" นายอุดม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดช่องทางที่ประชาชนสามารถยื่นคำร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญว่าจะยื่นได้ในกรณีที่ไม่มีศาล องค์กร หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าวให้โดยตรง หรือมีแต่ไม่ทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในอำนาจหรือการทำหน้าที่ รวมทั้งเกิดคดีล้นศาล ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักการใหม่ที่อาจมีข้อโต้แย้งได้มาก
ขณะเดียวกันร่างกฎหมายฉบับนี้ยังได้เพิ่มบทบัญญัติการละเมิดอำนาจศาลให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมี โดยใช้หลักการเดียวกับศาลทั่วไปเป็นพื้นฐาน แต่ขยายให้คุ้มครองการป้องกันการวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริตให้ครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนการยุยงปลุกปั่นนำมวลชนมาล้อมกดดันศาลด้วย
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนมาตรา 38 ของร่างกฎหมายฉบับนี้บัญญัติด้วยว่า "ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และรวดเร็ว..." โดยกำหนดมาตรการลงโทษไว้ในมาตรา 39 ตั้งแต่การตักเตือน ไล่ออกจากบริเวณศาล จนถึงการลงโทษจำไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวที่ยังไม่เคยมีการเขียนหลักการละเมิดอำนาจศาลมาก่อน เราคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็ควรทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ปราศจากการถูกครอบงำหรือถูกกระแสอำนาจข่มขู่ใด ๆ จึงต้องบัญญัติเรื่องนี้ไว้ แม้ว่าร่างฉบับนี้ยังไม่มีบทคุ้มครองพยานโดยเฉพาะ แต่เชื่อว่าหากมีความจำเป็นเนื่องจากคำร้องบางเรื่องเกี่ยวพันถึงการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมือง ทางศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถร้องขอส่งพยานเข้าระบบการคุ้มครองพยานของศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วก็ได้" นายอุดม ระบุ