โปรดเกล้าฯ กม.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่

ข่าวการเมือง Thursday September 28, 2017 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้

พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกอบด้วย 70 มาตรา มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยที่เหตุผลและความจำเป็นเพื่อกำหนดวิธีพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คำพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

สาระสำคัญใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่ เมื่อศาลประทับรับฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง หรือคำพิพากษานั้นมีผลให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์หรือไม่ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

การดำเนินคดีอาญาผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยซึ่งหลบหนีไปในระหว่างได้รับการปล่อยชั่วคราวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นการหลบหนีไปในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร

และในการดำเนินคดีอาญาเมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ

ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลและอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล

และหากออกหมายจับจำเลยและได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้

การริบทรัพย์สินในการดำเนินคดีไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม นอกจากศาลจะมีอำนาจริบทรัพย์สินตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดได้ด้วย เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บทเฉพาะกาลกำหนดว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ