ศูนย์สำรวจความคิดเห็น"นิด้าโพล"สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ประชาชนอยากเลือกตั้งแล้วหรือยัง?" โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2560 จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้ง เพราะต้องการให้ประเทศชาติพัฒนา เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น ขณะที่ประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการเลือกตั้งประมาณเดือน พฤศจิกายน 2561 ได้ แต่ก็ยอมรับได้หากการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไป
ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐบาลว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งประมาณเดือน พฤศจิกายน 2561 ได้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 55 เห็นว่าทำได้ ส่วนร้อยละ 33.41 เห็นว่าทำไม่ได้ และร้อยละ 11.59 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการยอมรับได้หรือไม่ถ้าหากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.30 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ อยากให้ทำการปฏิรูปประเทศก่อน บ้านเมืองยังต้องจัดการระบบและระเบียบอยู่ เชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีคิดว่ารัฐบาลคงมีเหตุผลที่สำคัญในการเลื่อนการเลือกตั้ง ขณะที่ร้อยละ 23.74 ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ เพราะ นานเกินไป อยากให้รัฐบาลทำตามที่ได้กำหนดไว้ อยากให้เป็นประชาธิปไตย ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน เศรษฐกิจแย่มาก ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการมาลงทุน และไม่ชอบการทำงานของรัฐบาล อยากให้บ้านเมืองดีขึ้นกว่านี้ และร้อยละ 4.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าตอนนี้ประชาชนอยากเลือกตั้งแล้วหรือยัง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.19 ระบุว่า อยากเลือกตั้ง เพราะ อยากให้ประเทศชาติพัฒนา เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น อยากเห็นแนวทางการบริหารประเทศในรูปแบบใหม่ อยากให้ประชาคมโลกยอมรับประเทศไทย ต่างชาติจะได้เชื่อมั่นและกล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และอยากให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 24.38 ระบุว่า ไม่อยากเลือกตั้ง เพราะ ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ ยังไม่สงบเรียบร้อยดี การเมืองก็ยังวุ่นวายอยู่รอให้ทุกอย่างลงตัวเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง อยากให้โอกาสรัฐบาลบริหารงานต่อไป ขณะที่ร้อยละ 7.43 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าถ้าหากไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ภายในปลายปี 2561 มีความกังวลใจมากน้อยเพียงใด ว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.00 ระบุว่า ไม่มีความกังวลใจเลย รองลงมา ร้อยละ 21.34 ระบุว่า มีความกังวลใจค่อนข้างน้อย ร้อยละ 19.34 ระบุว่า มีความกังวลใจค่อนข้างมาก ร้อยละ 11.51 ระบุว่ามีความกังวลใจมาก และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ