นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับเดิมเมื่อปี 2535 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ ในส่วนของขอบเขตการใช้บังคับให้ขยายไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เขตไหล่ทวีป และทะเลหลวงที่ประเทศไทยมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตราบเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศ หรือความตกลงระหว่างประเทศที่ทำไว้
ในส่วนของคณะกรรมการ กำหนดให้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายและวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการกองทุน คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามที่วางไว้
ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ได้เพิ่มเติมหลักการในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงบทบัญญัติในการจดทะเบียนบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลที่มีสิทธิจดทะเบียน เป็นการกำหนดให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมรับขึ้นทะเบียนให้กับสมาชิกขององค์กรชุมชน, อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือบุคคลซึ่งมีความสนใจได้เข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนงานตามแผนหรือโครงการ หรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
ด้านกองทุนสิ่งแวดล้อม ได้ปรับปรุงให้กองทุนสิ่งแวดล้อมจากที่เดิมอยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง ไปเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการปรับปรุงวัตถุประสงค์ของกองทุนให้กว้างขึ้น ปรับปรุงแหล่งที่มาและการใช้จ่ายเงินของกองทุนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้น
ด้านการรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการในการกำกับดูแล เช่น การประกาศกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนอย่างรุนแรง จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากนี้ กำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ, ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณาผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตผู้มีสิทธิทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้านบทลงโทษ ได้มีการกำหนดมาตรการลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดให้เกิดความเกรงกลัว หรือป้องกันมิให้ได้รับความสะดวกในการกระทำผิด, กำหนดให้เจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายมลพิษต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายในอัตราไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายแท้จริง เพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานรัฐต้องใช้ในการขจัดมลพิษและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้คณะกรรมการควบคุมมลพิษมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอัยการสูงสุด ให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาในศาลแก่เจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษได้