นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คาดจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน คือ ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ และส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในเดือนมกราคม 2561 โดยมีเวลาในการพิจารณา 60 วัน แต่หากมีการแก้ไขก็ต้องเพิ่มเวลาออกไปอีก 30 วัน เมื่อแล้วเสร็จก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป โดยมีระยะเวลา 90 วัน และเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 150 วัน
"เมื่อจัดการเลือกตั้งเสร็จแล้วประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน ก็ดูสิว่าประกาศได้หรือไม่ ถ้าอยู่บนสมมุติฐานว่าประกาศได้ก็ต้องประกาศ ถ้าประกาศไม่ได้ใบแดงเยอะ เปิดสภาฯไม่ได้ ผมไม่รู้เพราะอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เปิดสภาฯไม่ได้ ก็ต้องยืดเวลาออกไป แต่ถ้าเปิดสภาฯ เลือกนายกฯ ได้ สามวันจบ ม้วนเดียวเสร็จ มันก็เร็ว แต่ถ้าเลือกนายกฯ ยังไม่ได้ ต้องยืดยาว ก็ 20 วัน 30 วัน 40 วัน 50 วัน ผมก็ไม่รู้ว่าไงแล้ว เพราะสมมุติก็สมมุติเยอะแล้ว แต่เวลาพูดถึงโรดแมพ กรุณาพูดโรดแมพที่เป็นเหตุการณ์ว่าอะไรจะเกิด แต่ถ้าจะเอาวัน เดือน ปี เวลา วัน ว. เวลา น. มันตอบไม่ได้ เพราะตัวแปรมันเยอะ" นายวิษณุ กล่าว
หากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก นายวิษณุ กล่าวว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นตัวแปรที่ไม่ได้อยู่ในโรดแมพ เพราะหากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เห็นว่ากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องจะขัดกับรัฐธรรมนูญก็จะขอให้หยุดไว้ก่อนนำความกราบบังคมทูลฯ โดยยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็จะไปช้าอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ
"เช่น กฎหมายกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ผ่านสภาฯ แล้วต้องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยื่นไม่ได้จึงส่งเรื่องมาให้นายกฯ เป็นผู้ยื่น ถ้านายกฯ ส่งก็ต้องเลี้ยวไปหาศาลรัฐธรรมนูญ นานเท่าไหร่ผมไม่รู้ เพราะไม่มีกรอบเวลากำหนด แต่ถ้าไม่ส่งก็นำความกราบบังคมทูลฯ ไม่ได้" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีหากมีการตั้งกรรมาธิการร่วมฯ พิจารณากฎหมายลูกระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะทำให้โรดแมพต้องขยับออกไปด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การจะตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่นั้น ตนเองไม่ขอให้ความเห็น เพราะมันยังไม่เกิด ถ้าจะสมมุติอะไรขึ้นมามันสมมุติได้หลายอย่าง ทั้งความเห็นต่างแล้วตีตก ก็ต้องดูว่าตีตกตรงไหน ก็ต้องหยิบตรงนั้นมาแก้ ถ้าตีตกหลายมาตราก็ต้องเสียเวลาร่างใหม่ แต่หวังว่ามันคงไม่เป็นถึงขนาดนั้น อย่าไปสมมุติ แต่ถ้ามีการตั้งกรรมาธิการร่วมก็จะมีกรอบเวลา 1 เดือน