นายอัชพร จารุจินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมแล้วจำนวน 5 ครั้ง โดยมีข้อสรุปว่าจะทำแผนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ครอบคลุม 7 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.การกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความชัดเจน ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า
2.สร้างกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย เช่น การปรับปรุงสิทธิในการเยียวยาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 3.สร้างกลไกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่น สร้างมาตรการทดแทนการควบคุมตัวผู้กระทำความผิดอาญา 4.สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
5.ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา โดยให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ 6.กำหนดให้นำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสอบสวนคดีอาญา ต้องสามารถให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศอย่างทั่วถึงโดยมีมาตรฐานเดียวกัน และ 7.เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร พัฒนาปรับปรุงด้านรายได้สิทธิประโยชน์ให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
นายอัชพร กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะสรุปและเสนอรายงานข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมร่วมกันของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านในช่วงเดือน ธ.ค. อย่างไรก็ตามการทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปนั้นจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย เพื่อให้เกิดการบังคับใช้ในระยะยาว
ด้าน พล.ท.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า การปฏิรูปกฎหมายในครั้งนี้ไม่ได้มีแต่เพียงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามปกติเท่านั้น แต่จะทำการปฏิรูประบบการยุติธรรมของทหารด้วย เช่น ศาลทหาร และ อัยการทหาร เป็นต้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องทำการปฏิรูปด้วย