พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่าในการพิจารณาประเด็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่จะส่งกลับไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น คณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันนี้เป็นครั้งที่สองก่อนเสนอความเห็นกลับไปยัง กรธ.เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ ป.ป.ช.กังวล โดยเฉพาะการใช้อำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะแตกต่างไปจากอดีต และการกำหนดกรอบเวลาที่เคร่งครัด ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการไต่สวน เพราะแต่ละคดีนั้นย่อมมีกรอบเวลาในการพิจารณาที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าการพิจารณาคดีนั้นจะแล้วเสร็จตามกรอบเวลา แต่กังวลเรื่องของคุณภาพในขั้นตอนการไต่สวน โดยเฉพาะในคดีทุจริตนั้น การสืบพยานหลักฐานต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องยาก
ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีกรอบเวลาในการพิจารณาคดีของตัวเองตามกฎหมาย ป.ป.ช.อยู่แล้ว แต่กรอบที่ กรธ.กำหนดให้มานั้นอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพิจารณาไต่สวนคดีที่จะส่งต่อไปยังอัยการสูงสุดและศาล โดยเจ้าหน้าที่อาจกังวลเรื่องกรอบเวลา เพราะหากทำไม่ทันก็ต้องรับโทษ ดังนั้นแทนที่จะเป็นประโยชน์แต่อาจเป็นโทษได้เหมือนกัน
"ร่างดังกล่าวเป็นเพียงร่างแรกที่ กรธ.ส่งมาและเราก็อยากไปชี้แจงกับ กรธ.ก่อนที่เขาจะส่งให้ สนช.แต่ในขั้นแปรญัตติของ สนช.ก็จะต้องมีคนของ ป.ป.ช.เข้าไปอยู่ด้วย โดยจะใช้เวทีนี้เพื่อชี้แจงเรื่องต่างๆ และอยากให้ กรธ.ช่วยรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติ เราไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากการทำงานอย่างมืออาชีพให้มีประสิทธิภาพสมกับความคาดหวังของประชาชน" พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
อีกทั้งยังเสนอประเด็นเกี่ยวกับการทำงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ โดยมีวิธีการสืบสวนสอบสวนแบบพิเศษซึ่ง ป.ป.ช.สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับการพิจารณาเลย
นอกจากนี้หลายเรื่องที่ กรธ.กำหนดไว้ในร่างกฎหมายดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช.นั้นไม่มีการโต้แย้งเพราะเห็นด้วยที่จะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ด้าน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า มีหลายประเด็นที่ ป.ป.ช.จะเสนอความเห็นเพิ่มเติม ทั้งประเด็นการไต่สวนเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ รวมถึงวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่เห็นว่ายังขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ