นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนปฎิรูปว่า ที่ประชุมได้กำหนดกรอบ 4 ด้านหลัก คือ 1.การป้องกันและเฝ้าระวัง จะให้ความสำคัญกับภาคประชาชน โดยจะให้ความรู้และสร้างเครือข่ายประชาชนเพื่อช่วยชี้เบาะแสการทุจริต 2.การป้องปราม จะให้ความสำคัญกับหัวหน้าส่วนราชการ ในส่วนราชการต้องมีมาตรการต่อต้านการทุจริต สร้างวัฒนธรรมองค์กร การเสริมสร้างจริยธรรม หัวหน้าส่วนราชการต้องมีการกวดขันสอดส่องดูแล หากปล่อยปละละเลยหัวหน้าส่วนราชการจะต้องรับผิดชอบทางวินัย ปกครอง และอาญา รวมทั้งต้องมีการประเมินคุณธรรมภายในองค์กร หากไม่ผ่านเกณฑ์หัวหน้าส่วนราชการจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการลดใช้การดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ให้มาก และกำหนดให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
3.การปราบปราม ต้องมีมาตรการที่รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด องค์กรตรวจสอบต้องยกระดับการทำงานให้สามารถนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว ต้องมีมาตรการเชื่อมโยงระหว่างการปราบปรามการทุจริตกับการฟอกเงิน และให้มีมาตรการติดตามทรัพย์สินคืน และ 4.การบริหารจัดการ ในอนาคตจะต้องมีหน่วยงานในลักษณะเดียวกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แต่จะไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง โดยจะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาขับเคลื่อนโดยเฉพาะ
โดยจากนี้ไปจะมีการติดตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่ามีผลสัมฤทธิ์หรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง อาทิ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560, พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ที่บังคับใช้แล้วแต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ขณะที่นายประยงค์ ปรียาจิตต์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะมีการรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน โดยในส่วนต่างจังหวัดจะมีการลงพื้นที่ในเดือน พ.ย.60 ขณะที่ส่วนราชการต่างๆ ได้มีการเชิญมาให้ข้อมูล เบื้องต้นจะรับฟังผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเว็บไซต์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
ด้านพล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้นจะต้องยื่นต่อหัวหน้าส่วนราชการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเรื่องการจะยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ว่า จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง 10%ขึ้นไป และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือไม่