นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการปฏิรูป 13 ด้าน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ 6 คณะเมื่อวานนี้ว่า เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ โดยเนื้อหาการประชุมเป็นการพิจารณาถึงกติกาและข้อสงสัยบางอย่าง โดยเฉพาะการกำหนดรูปแบบร่างยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้
"ที่เป็นห่วง คือ การกำหนดรูปแบบของร่างฯ ว่าจะเอาอย่างไร เพราะต้องให้เสร็จทันเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว"นายวิษณุ กล่าว
พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้คณะกรรมการฯ ที่มีผลงานคืบหน้าได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งในภาพรวมขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ ส่วนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้น ขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากหากปล่อยให้ต่างคณะจัดกันเองจะเป็นภาระของประชาชนที่เป็นกลุ่มเดียวกัน
"ทุกคณะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ถ้าคณะหนึ่งจัดเช้า อีกคณะจัดบ่ายก็จะเป็นภาระของประชาชน ก็เลยให้สภาพัฒน์ที่มีประสบการณ์จากการจัดทำแผน 12 มาเป็นออแกไนเซอร์ให้" นายวิษณุ กล่าว
พร้อมระบุว่าจะได้รายงานผลประชุมดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ เนื่องจากมีคณะกรรมการบางชุดที่ต้องการให้แต่งตั้งคนเข้ามาให้ครบโควต้า 15 คน เพื่อให้เพียงพอกับการทำงาน เช่น คณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม คณะกรรมการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่มีเนื้อหากว้างขวางมาก นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย
"งานปฏิรูปบางด้านมีเนื้อหากว้างขวาง เช่น ด้านสังคมหรือเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องการคนเข้ามาช่วยงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้รายงานให้นายกฯ ได้รับทราบ"นายวิษณุ กล่าว
ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการปลดล็อคพรรคการเมืองนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดทำปฏิทินไว้แล้ว การดำเนินการทุกเรื่องจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ จะไม่กระทบต่อปฏิทินที่กำหนดไว้ ส่วนการพิจารณาเรื่องนี้ขอให้เป็นหน้าที่ของ คสช.ส่วนกรณีที่ยังไม่มีผู้มาสมัครเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้นยังมีระยะเวลา ซึ่ง กกต.ก็ยังทำหน้าที่ต่อไป หากยังไม่มีคนมาสมัคร กกต.ชุดเก่าก็ทำหน้าที่ต่อไป
"อะไรที่ให้ขยายเวลาออกไปก็จะกระทบแค่โรดแมปย่อย แต่จะไม่กระทบโรดแมปใหญ่...คสช.มีปฏิทินอยู่แล้ว พรรคการเมืองไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีเวลาหาเสียง"นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีที่ธนาคารโลก (World Bank) เลื่อนอันดับประเทศไทยในเรื่อง Doing Business จากอันดับ 46 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 26 และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนาเกือบทุกด้าน แต่ยังมีเรื่องการแก้ปัญหาล้มละลายและการจดทะเบียนที่ยังล่าช้าอยู่ ซึ่งจะต้องหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
"เราดีขึ้นเกือบทุกด้าน และมีคำชมเชยว่าเป็น 1 ใน 10 ประเทศจาก 200 ประเทศที่มีพัฒนาการรวดเร็วแบบก้าวกระโดด" นายวิษณุ กล่าว