ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 200 เสียงรับหลักการวาระที่ 1 ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 35 คนเพื่อพิจารณา
สำหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการฯ ที่น่าสนใจ อาทิ นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้ามาร่วมทำหน้าที่กรรมาธิการฯด้วย
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวระหว่างการเสนอร่างกฎหมายต่อที่ประชุม สนช.ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรม เช่น การกำหนดระยะเวลาการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่ง กรธ.คิดว่าควรไม่เกิน 2 ปี แต่สามารถต่อเวลาได้ ถึงกระนั้นหากมีกรณีที่ไต่สวนเกินเวลาขึ้นมาจริงๆ ป.ป.ช.ก็ยังมีอำนาจในการตรวจสอบคดีดังกล่าวอยู่ เพียงแต่ป.ป.ช.ต้องไปตรวจสอบว่าเกิดปัญหาอะไรที่ทำให้ไต่สวนไม่เสร็จตามกำหนดเวลา โดยต้องแจ้งให้กับประชาชนทราบด้วย
สำหรับการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของ ป.ป.ช.นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้กรณีที่ของกรรมการ ป.ป.ช.กระทำความผิด สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อต่อศาลฎีกาให้ไต่สวนได้ แต่สำหรับกรณีของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กระทำผิดเสียเอง จะเป็นหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่ สตง.ไม่มีอำนาจหน้าที่ชี้ขาด เพราะจะให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยในชั้นสุดท้าย ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องไปพิจารณาในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คือ มาตรา 7 การกำหนดให้การดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ไม่ให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 ว่าด้วยอายุความมาใช้บังคับ
นอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตและการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ ป.ป.ช. มีอยู่เดิมแล้ว ปรากฏว่ามาตรา 31 ยังกำหนดให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่เสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือ องค์กรอัยการ ในการเสนอแนะให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเมื่อองค์กรใดได้รับแจ้งแล้ว หากไม่อาจดำเนินการได้ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อ ป.ป.ช.ให้ทราบต่อไปภายใน 3 เดือนนับแต่ได้รับแจ้งจาก ป.ป.ช.
เช่นเดียวกับ มาตรา 34 ซึ่งบัญญัติว่า ป.ป.ช.โดยมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 สามารถมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐและคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการดำเนินการอย่างใดของหน่วยงานของรัฐที่อาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ในกรณีเช่นนี้หน่วยงานของรัฐและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ และต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความลับของทางราชการ
การใช้อำนาจหน้าที่ไต่สวนของป.ป.ช. มาตรา 47 บัญญัติให้ป.ป.ช.ต้องดำเนินการโดยพลัน และต้องไต่สวนพร้อมกับวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เริ่มดำเนินการ แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการได้เสร็จภายใน 1 ปี ป.ป.ช.อาจขยายเวลาออกไปอีกตามที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 2 ปี เว้นแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ หรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้ หรือ ขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จำเป็นก็ได้
ส่วนบทเฉพาะกาลในมาตรา 178 กำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในกฎหมาย