นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยสรุป 7 เรื่อง ถอยหลังเข้าคลองของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยระบุว่า การร่างกฎหมายใหม่สักฉบับ ควรเพิ่มเติมในมุมที่ก้าวหน้า เป็นประโยชน์ ป้องกันทุจริต ให้ความสะดวกแก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมให้คนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มาก แต่มุมมองในการร่างกฎหมายของ กรธ.ชุดนี้ กลับมีด้านที่ล้าหลัง ไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถป้องกันทุจริต และทำให้ประชาชนเกิดความยากลำบากในการใช้สิทธิ์
"ผมคิดว่า กรธ.อาจมีความปรารถนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่ความเชื่อมั่นในตนเอง คิดว่าสิ่งที่ตนคิดนั้นถูกเสมอ จึงทำให้เกิดข้อเสนอที่พิลึกพิลั่นมากมาย" นายสมชัยระบุ พร้อมยกตัวอย่างดังนี้
ประการแรก ให้หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเป็นคนละเบอร์ แทนที่จะใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศให้ประชาชนจดจำได้ง่าย และส่งเสริมระบบพรรคให้เข้มแข็ง
ประการที่สอง กำหนดให้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องใช้บัตร และกำหนดเงื่อนไขปิดกั้นการใช้วิธีการอื่นที่ทันสมัยและสะดวกต่อประชาชน
ประการที่สาม กำหนดวิธีการรับสมัครให้ใช้วิธีการสมัครด้วยตนเอง และให้ย้ายสถานที่รับสมัครได้หากเกิดความวุ่นวาย ทั้งๆที่เคยมีประสบการณ์การถูกปิดล้อมจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ประการที่สี่ การเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเป็น 1,000 คน ต่อหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง ทำให้จำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศลดลง ประชาชนต้องเดินทางไกลขึ้น และจำนวนผู้รอในแถวเพื่อขอใช้สิทธิ์จะยาวขึ้นกว่าเดิม
ประการที่ห้า การลดจำนวนกรรมการประจำหน่วยให้เหลือไม่น้อยกว่า 5 คน จากเดิมใม่น้อยกว่า 9 คน การดูแลจัดการจะยากขึ้น การทุจริตซื้อกรรมการยกหน่วยง่ายขึ้น
ประการที่หก การให้บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์หน้าหน่วยไม่ต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชน เพิ่มความยุ่งยากในการจัดพิมพ์ เนื่องจากบัญชีในหน่วยยังต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชน ทำให้ต้องพิมพ์สองรอบ และเปิดช่องให้ทุจริตส่งผีเข้าบ้านเลขที่ปลอมได้โดยง่าย
ประการที่เจ็ด การห้ามทำโพลที่มีผลต่อการตัดสินใจการใช้สิทธิ์ ซึ่งเป็นการปิดกั้นสื่อและสถาบันการศึกษาในการใช้หลักวิชาการเพื่อส่งเสริมการเลือกตั้ง
นายสมชัย ระบุว่า หลักการที่หยิบยกขึ้นมาทั้ง 7 เรื่อง ถือเป็นความล้าหลังของกฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องของการออกแบบวิธีการจัดการเลือกตั้งที่ลงรายละเอียดมากเกินไป และไม่ได้รับฟังความเห็นจากฝ่ายปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีการโต้แย้งโดยการตั้งกรรมาธิการร่วม
แต่ขอเสนอแนวคิดบันทึกไว้หากมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นและเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เพื่อให้ประชาชนรับทราบไว้ว่าปัญหานั้น มาจากผู้ออกแบบ คือ กรธ. และผู้ผ่านกฎหมาย คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มิใช่ผู้ปฏิบัติคือ กกต.