นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ แม้ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะออกมาแล้ว แต่ก็ต้องไปดูว่ายังติดเงื่อนไขคำสั่งของ คสช.ในเรื่องใดบ้าง ถ้าหากติดก็ไม่สามารถทำได้ แต่หากไม่ติดก็สามารถทำได้ ซึ่งคำสั่งของ คสช.นั้นหากจะลบล้างก็จะต้องให้ คสช.ออกคำสั่งหรือออกกฎหมายออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งก่อนหน้านั้นเท่านั้น ถ้าหาก คสช.ยังไม่ออกคำสั่งลบล้างแม้ว่า จะมีระเบียบของ กกต.ออกมาแล้ว แต่ระเบียบก็ยังใช้ไม่ได้ทั้งหมดเพราะมีส่วนที่ขัดคำสั่งของ คสช.อยู่
อย่างไรก็ตาม ทาง กรธ.ได้มอบหมายให้ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ.ไปปรึกษากับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าตามรัฐธรรมนูญส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ส่งผลกระทบคือเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม โดยจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่น และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ในส่วนที่ กกต.ได้ไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความโดยเฉพาะอำนาจของ กกต.ว่าจะกำกับดูแลหรือรวมไปถึงการบริหารจัดการการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ นั้นเป็นความเข้าใจผิดของ กกต. เพราะว่าในกฎหมายไม่ได้เขียนอะไรจำกัดเรื่องนี้ไว้ ซึ่งในกฎหมายว่าด้วย กกต.นั้นได้เขียนเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น กกต.จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นจัด หรือ กกต.จะจัดการเลือกตั้งเองก็ได้
นอกจากนี้ แม้ในกฎหมายใหม่จะกำหนดไม่ให้มี กกต.จังหวัดแล้ว แต่ที่ผ่าน กกต.ก็ไม่ได้เป็นคนจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น คนที่จัดการเลือกตั้ง ก็เป็นฝ่ายท้องถิ่น กกต.เป็นแค่คนกำกับและให้ผู้อำนวยการจังหวัดเป็นคนของดูแล ซึ่งในขณะนี้ตามกฎหมายว่าด้วย กกต. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งในระดับจังหวัดก็ยังคงอยู่ อีกทั้ง กกต.ชุดปัจจุบันมีอำนาจตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาได้เลย ไม่ต้องรอ กกต.ชุดใหม่ รวมทั้งมีอำนาจออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง