นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย, คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) , คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี เกี่ยวการเตรียมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า วันนี้มีความชัดเจนเรื่องการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญใหม่รวม 6 ฉบับ แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ปี 2545 ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง อปท. 2.กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 ฉบับ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กทม.และเมืองพัทยา ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 252 ซึ่งจะต้องกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 184-185 ซึ่งเกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ เช่น ต้องไม่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ หรือ ถือหุ้นในบริษัทเอกชน เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้เขียนไว้ ทั้งนี้เบื้องต้นคณะกรรมกฤษฎีกาได้ยกร่างกฎหมายทั้งหมดเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เห็นความเห็นชอบต่อไป
นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงกระบวนการแรกจาก 3 ขั้นตอนไปสู่การจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนจะสามารถเลือกตั้งประเภทใดได้ก่อน และช่วงเวลาใด ต้องรอนับหนึ่งเมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งเท่าที่พูดคุยตารางเวลาในที่ประชุม เชื่อว่าคงไม่ทันภายในปีนี้ เพราะต้องใช้เวลารับฟังความเห็นในการแก้กฎหมายในช่วง 1 เดือนที่เหลือ
พร้อมกันนี้ที่ประชุมฯ ได้หยิบยกข้อกังวลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใน 3 เรื่องมาหารือ คือ 1.ไม่ให้กระทบปฏิรูปโครงสร้างใหม่ ดังนั้น อบต.คงจะต้องเลือกตั้งช้าที่สุด เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องการปฏิรูป 2.อปท.ที่ติดบัญชีเข้าข่ายทุจริต ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจ ซึ่งต้องทำเป็นบัญชีชี้แจงประชาชนเพื่อความโปร่งใส และ 3.การปลดล็อกพรรคการเมืองซึ่งยังมีระยะเวลาดำเนินการอยู่
ส่วนอำนาจหน้าที่ของการจัดการเลือกตั้งที่มีข้อกังวลในมาตรา 27 นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีความขัดแย้ง และไม่มีข้อสงสัย เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจ กกต.ให้สามารถจัดหรือดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถมอบหมาย อปท.ไปจัดการเลือกตั้งในพื้นที่เองก็ได้ หรือ กกต.จัดเองก็ได้ เพราะกฎหมายอนุญาต
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองเริ่มมีการสำรวจสมาชิกของพรรคว่า คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และประกาศ คสช.ไม่ได้ห้ามเรื่องนี้ การที่กรรมการบริหารพรรคมีการพบปะพูดคุยกันแทบทุกวันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งคำสั่งที่ห้ามรวมตัวกัน 5 คนเพื่อห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก็มีช่องทางที่จะทำไม่ให้เป็นการชุมนุมทางการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองสามารถสำรวจสมาชิกพรรคการเมืองได้ไม่มีปัญหา
"การที่คนมาพบปะกัน 5-10 คน ไม่ได้หมายความว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองเสมอไป เพราะการสำรวจสมาชิกพรรคมีหลายวิธี เชื่อว่าพรรคการเมืองทำเป็นและก็ทำอยู่แล้ว"