พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์แถลงข่าวเรื่องแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวไปค่ายทหาร เพื่อไม่ให้เดินทางเข้ามาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำใน กทม.ว่า รัฐบาลไม่เคยห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือเสนอข้อเรียกร้อง และยังได้จัดกลไกรับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับอำเภอถึงจังหวัดผ่านศูนย์ดำรงธรรมและหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วย ขณะที่แกนนำก็มีช่องทางสื่อมวลชนที่สะท้อนความต้องการมายังรัฐบาลเป็นรายวันอยู่แล้ว แต่ทำไมจึงพยายามจะเดินขบวนเข้ามาใน กทม.
"การกล่าวอ้างว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้นั้น อยากให้เสนอมาว่าหากเป็นท่านเองจะทำอย่างไร จะได้ร่วมกันปรึกษาหารือด้วยเหตุผล โดยไม่นำความเดือดร้อนของชาวสวนยางมาสร้างประเด็นทางการเมือง และแม้จะมีความเห็นออกมาแล้วบ้าง เช่น ควรทำให้การยางแห่งประเทศไทยเป็นเสือตัวที่ 6 ก็ต้องย้อนไปดูด้วยว่าประเทศมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐต้องดูแล หรือหากทำแล้วรัฐจะกลายเป็นคู่แข่งของเอกชน จนถูกมองว่าไปทำลายกลไกตลาดหรือไม่" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่ารัฐบาลและ คสช.ยินดีรับฟังข้อเสนอของทั้งพรรคการเมืองและนักกฎหมาย เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจึงอาจทำให้ข้อมูลและวิธีคิดแตกต่างกัน โดยอยากให้นำเสนอข้อเรียกร้องด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ควรเดินขบวนหรือชุมนุม แต่การแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ส่วนการเชิญตัวแกนนำไปค่ายทหารนั้นเป็นการพูดคุยทำความเข้าใจกัน ไม่ใช่การข่มขู่หรือทำร้าย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเป็นห่วงเรื่องการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งที่ระบุว่า เสรีภาพของสื่อออนไลน์ไทยถูกลดอันดับ และเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศสังคมนิยมบางประเทศ โดยอยากให้สังคมร่วมกันคิดว่า รัฐบาลใช้อำนาจกับสื่อมากเกินไปจริงหรือไม่
"หากพิจารณาตามความเป็นจริงจะพบว่า วันนี้สื่อมวลชนยังมีเสรีภาพอย่างมาก ส่วนการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันคงไม่ถูกต้องนัก มิหนำซ้ำในบางประเทศมีกฎหมายควบคุมเข้มงวดมากกว่าไทย แม้จะเป็นประเทศประชาธิปไตยก็ตาม" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศและเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังต่างประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าการใช้สื่อออนไลน์ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการละเมิด หลอกลวง ฉ้อโกง โป๊ หมิ่นประมาท ขายสินค้าผิดกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกประเทศจึงต้องมีกฎหมายควบคุมเรื่องเหล่านี้
"สื่อออนไลน์และผู้ใช้งานควรร่วมกันคิดด้วยว่าจะปฏิรูปสื่อและสร้างสรรค์สังคมอย่างไร และต้องไม่ให้ตนเองกลายเป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้ง หรือนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน สร้างความเสียหายทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหายางพาราและผลผลิตทางการเกษตกร เช่น ข้าว มันสำปะหลังว่า พยายามแก้ไขปัญหาราคายางอย่างดีที่สุด แต่ต้องอาศัยการปรับโครงสร้างวิธีการผลิต และต้องเข้าใจว่า วันนี้เศรษฐกิจโลก ต้องร่วมกลุ่มการค้าขาย และจากวิธีการดำเนินเศรษฐกิจแต่ละประเทศ มีผลต่อการสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากไทยลดลง ที่สำคัญแม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิต แต่ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามราคาอ้างอิงตลาดโลก ที่มีปัจจัยอื่นประกอบด้วย
ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งที่จะปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรแบบผสมผสาน รวมถึงต้องหาอาชีพเสริม แทนการทำเกษตรเชิงเดียว นอกจากนี้จะต้องดูแลผลผลิตในประเทศให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา
"ส่วนของผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้น ฝากสื่อมวลชนช่วยถามคนเหล่านี้กลับไปว่า จะมีวิธีการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรอย่างไร และต้องตอบด้วยว่า แก้ภายใต้สถานการณ์ที่เหมือนกันหรือไม่"นายกรัฐมนตรี กล่าว