สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เผยคุณสมบัติสำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชน 5 ประการ คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต, ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องและคนใกล้ชิด ทำงานเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ เอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎรในพื้นที่ของตนเอง และต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง
"คุณสมบัติสำคัญสูงสุด 5 ประการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กลุ่มตัวอย่างอยากได้คือ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตคิดเป็นร้อยละ 85.96 ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง/คนใกล้ชิดคิดเป็นร้อยละ 83.8 ทำงานเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญคิดเป็นร้อยละ 81.48 เอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎรในพื้นที่ของตนคิดเป็นร้อยละ 78.57 และต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องหลังการเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละ 76.74" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศว่าประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ภายในเดือน พ.ย.61 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือร้อยละ 70.85 เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาดังกล่าวจริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.09 ไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.06 ไม่แน่ใจ
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 60.38 คิดว่าหากมีการประกาศวันเลือกตั้ง ส.ส.ที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 62.04 คิดว่าจะช่วยลดโอกาสการกล่าวอ้างเพื่อชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองได้
กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือร้อยละ 66.78 ยอมรับรู้สึกกังวลหากมีการประกาศวันเลือกตั้ง ส.ส.ที่ชัดเจนแล้วจะทำให้ข้าราชการลดความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 62.38 เห็นด้วยที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปหลังเดือน พ.ย.61 หากยังคงมีการเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวายทางการเมืองของกลุ่มผู้ไม่หวังดี
ส่วนปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่ทำให้ประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. คือ ความเบื่อหน่ายต่อการบริหารงานของคณะรัฐบาล, ข่าวการช่วยเหลือปกป้องพวกพ้องหรือคนใกล้ชิด, ปัญหาการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสมและตรวจสอบไม่ได้, ปัญหาการทุจริตในนโยบายหรือโครงการต่างๆ และการแก้ปัญหาปากท้องหรือค่าครองชีพ/ราคาสินค้าและบริการไม่มีประสิทธิภาพร้อยละ
ด้านการอนุญาตให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (ปลดล็อคพรรคการเมือง) นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 53.74 คิดว่าควรมีการอนุญาตให้พรรคการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้หลังขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2561 รองลงมากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.9 คิดว่าควรอนุญาตให้เริ่มเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.22 คิดว่าควรรอจนกว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 7.14 คิดว่าควรอนุญาตให้เริ่มเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมภายในเดือน พ.ย.นี้เลย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือร้อยละ 64.95 คิดว่าไม่รู้สึกกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศหลังจากที่มีการอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.05 คิดว่าในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไปนี้ประเทศจะได้นักการเมืองหน้าเดิมๆ เข้ามาเป็น ส.ส.อีก และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 53.24 เห็นด้วยหากมีกลุ่มทหารจากคณะรัฐประหารในปัจจุบันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้ง ส.ส.ตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.04 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.72 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเลือกตั้ง ส.ส.และการกิจกรรมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 12-17 พ.ย.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,204 คน