พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้พัฒนาการเกษตร โดยได้จัดทำเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรเข้าถึงบริการของภาครัฐผ่านโทรศัพท์ได้สะดวกและรวดเร็ว
โดยสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น เว็บไซต์ตลาดออนไลน์ www.dgtfarm.com รวบรวมสินค้าเกษตรให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้โดยตรง, แอปพลิเคชันกระดานเศรษฐี 4.0 ช่วยให้เกษตรกรฝึกคำนวณต้นทุนการผลิตด้วยตนเอง, แอปพลิเคชันจองรถเกี่ยว ช่วยจัดหารถเกี่ยวแก่เกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาก หรือแอปพลิเคชันชาวนาไทยที่รวบรวมข้อมูลมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเกษตรกรที่อาจจะไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือยังขาดทักษะการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ จึงขอให้ไปติดต่อใช้บริการที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ และมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้ใช้งานได้ พร้อมทั้งกำชับให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นแกนกลางไปแก้ไขปัญหาแอปพลิเคชันของภาครัฐที่บางส่วนยังมีข้อมูลซ้อนทับกันอยู่ เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใยเกษตรกที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเกษตรกรแปลงใหญ่ของรัฐบาล โดยยังคงทำเกษตรแบบแปลงเล็กแปลงน้อย เพราะพื้นที่ไม่ได้ติดกับแปลงใหญ่ของผู้อื่น ซึ่งขอแนะนำให้ใช้วิธีการรวมกลุ่มแทน เช่น หากปลูกพืชชนิดเดียวกันก็สามารถรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรได้ เพื่อช่วยกันพัฒนาสินค้า เพิ่มมูลค่าผลผลิต และสร้างอำนาจต่อรองกับตลาด
"นายกฯ ย้ำว่า วันนี้บ้านเมืองต้องการความเปลี่ยนแปลง จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการปรับวิธีคิดและเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหน่วยราชการ นักกฎหมาย พรรคการเมือง สื่อ และภาคประชาชน การกล่าวเช่นนี้เป็นเพียงการสร้างหลักคิด และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ได้มีเจตนาดูถูก อ้างความดีของ คสช. หรือหวังผลทางการเมืองใด ๆ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรในขณะนี้คือ การติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและจุดบริการ wifi ใน ศพก. และมีแนวคิดที่จะยกระดับ ศพก.ที่มีศักยภาพให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้ามหน่วยงาน เช่น การพัฒนาบุคลากรผู้ดูแล ศพก. ให้เข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์ดิจิทัลฯ แล้วนำไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่
โดยในปี 2561 รัฐบาลจะอบรมประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในหมู่บ้านเป้าหมายของโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยจะสอดแทรกเนื้อหาการใช้งานแอปพลิเคชันให้ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง