นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติให้ถ่ายโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ใน 5 กลุ่ม ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย ภารกิจที่สมควรถ่ายโอนภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี ได้แก่ ภารกิจด้านการจราจรที่โอนให้ กทม. เทศบาลนครต่างๆ และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร กวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายจราจร, ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและสรรพสามิตที่โอนให้กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต, ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่โอนให้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคที่โอนให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนภารกิจที่สมควรถ่ายโอนภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ได้แก่ ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ขนส่ง และรถยนต์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจทางหลวง โอนให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม, ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาญาทางน้ำ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจน้ำ โอนให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
สำหรับภารกิจที่สมควรถ่ายโอนอย่างมีขั้นตอน ได้แก่ ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ โอนให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา, ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือตำรวจท่องเที่ยว โอนให้กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยทั้ง 2 ภารกิจจะต้องเตรียมความพร้อมรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามภายใน 3 ปี เตรียมความพร้อมเพื่อรับผิดชอบงานด้านการสอบสวนภายใน 5 ปี
ขณะที่ภารกิจที่เห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติร่วมกับตำรวจ คือ ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดบนขบวนรถไฟหรือตำรวจรถไฟ และภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด และ ภารกิจตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพร.)
นายสมคิด กล่าวว่า ทุกภารกิจจะต้องดำเนินการถ่ายโอนให้แล้วเสร็จและเสนอมายังคณะกรรมการฯ ภายในวันที่ 1 ก.พ.61 เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เสร็จสมบูรณ์ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 เม.ย.61
อย่างไรก็ตามอำนาจหน้าที่ของ สตช.จะปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในส่วนของการปราบปรามจับกุมคดีอาชญากรรมและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และหากหน่วยงานที่รับถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว ไม่ดำเนินการก็จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ในเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ ในการประชุมวันที่ 29 พ.ย.นี้ได้เชิญนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงในประเด็นการแยกงานสืบสวนสวบสวนให้เป็นอิสระ เพราะไม่ว่างานสอบสวนจะเป็นอิสระที่อยู่นอก สตช. หรือมีความเป็นอิสระใน สตช. ก็ต้องมีความชัดเจน