นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ได้ส่งมอบร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้วรู้สึกโล่งอก เพราะรู้สึกกังวลว่าจะทำเสร็จไม่ทัน เนื่องจากกรอบเวลา 240 วันเหมือนจะนานแต่ต้องทำกฎหมายถึง 10 ฉบับ
ส่วนเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็เป็นไปตามหลักการในรัฐธรรมนูญ เรื่องเงินหาเสียงก็คล้ายของเดิม แต่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องตามสภาพของเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้จะต้องมีการหารือกับพรรคการเมืองก่อน และเรื่องคุณสมบัติก็มีความเข้มข้นขึ้น ส่วนวิธีการเลือกตั้งยังใช้บัตรเหมือนเดิม แต่เปิดช่องให้ใช้เครื่องได้ในอนาคต หากมีความปลอดภัย และป้องกันการซื้อเสียงได้
นอกจากนี้ เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หลักการคือให้เลือกผู้สมัครฯ จากระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ผู้ได้รับเลือก 10 คนแรกจะได้เป็น ส.ว. ส่วนอีก 5 คนถัดมาให้เป็นสำรอง วิธีการจะป้องกันการฮั้วมากที่สุด
ประธาน กรธ. กล่าวว่า หลังจากนี้จะส่งตัวแทนไปร่วมเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แล้วรอดูการปรับแก้ของ สนช.ซึ่งไม่มีสัญญาณความเห็นต่างอะไร เนื่องจากรับฟังความเห็นจากทาง สนช.และมีตัวแทนจาก กกต. เข้าร่วมประชุมตลอด ส่วน กรธ.ก็จะนัดประชุมสัปดาห์ละ 1-2 วัน เพื่อพิจารณารายงานการประชุมที่ผ่านมา
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง กล่าวว่า จะนำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับเข้าที่ประชุม สนช. ในวันที่ 30 พ.ย. นี้ ส่วนการพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะใช้กรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องหารือในที่ประชุม วิปสนช. อีกครั้ง
"การพิจารณากฎหมายลูกเป็นไปตามกรอบเวลา ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ ภายในระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ กรธ. ส่งร่างให้ สนช. ดังนั้น แม้ว่ามีเวลาน้อยก็ไม่สามารถขยายเวลาได้"