ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมาก 177 ต่อ 1 คะแนน รับหลักการวาระที่ 1 ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. โดยมีสมาชิก สนช.งดออกเสียง 10 คน พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 27 คนและกำหนดเวลาการพิจารณาให้เสร็จภายใน 58 วัน
นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. กล่าวว่า เข้าใจว่าหลักการในการออกแบบการได้มาซึ่ง ส.ว. ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องการเปิดกว้างให้กับบุคคลทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถมากที่สุด จึงได้กำหนดกลุ่มอาชีพไว้ถึง 20 กลุ่ม แต่ทั้งนี้โดยส่วนตัวมีความสงสัยว่าการให้เลือกกันเองด้วยการเลือกไขว้ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตามลำดับจะดีหรือไม่
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า พรรคการเมืองใหญ่นอกจากจะส่งคนลงสมัครส.ส.เขตเลือกตั้ง หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่อไปนี้จะส่งคนลง ส.ว.ด้วย โดยจะวางคนเข้ามาทุกกลุ่มกลุ่มละ 100 คนทั่วประเทศ และกำหนดไปเลยว่าจะเลือกให้ใครเป็นส.ว.หรือไม่เลือกให้ใครเป็นส.ว.
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ยอมรับว่าความห่วงใยเกี่ยวกับเลือก ส.ว.นั้นยังมีอยู่ แต่ถ้าหากไม่มีความหวังที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ในการเดินไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองก็คงจมอยู่กับที่เดิม และไม่ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ
"สิ่งที่กำลังทำอยู่ในวันนี้ จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าคนไทยได้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด...ดูได้จากเวลาที่เราไปฟังเสียงประชาชนตามต่างจังหวัด ประชาชนให้ความสนใจกับวิธีการเลือก ส.ว.มากเป็นพิเศษ เพราะเขารู้สึกว่า คราวนี้เขามีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยในการเลือกส.ว.กันเอง" นายมีชัย กล่าว