"มีชัย"จวกคนตั้งข้อสังเกตมีขบวนการสมคบคิดแก้กม.พรรคการเมืองหวังเลื่อนเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Thursday December 14, 2017 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรณีมีผู้เสนอแนวคิดให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ต้องมีสาเหตุจากกฎหมายเดิมบังคับใช้ไม่ได้ หากระยะเวลาไม่เพียงพอก็แก้ไขด้วยการขยายเวลา หรือแก้ไขเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือหากต้องการเซ็ตซีโร่แล้วกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ก็ไปแก้ไขให้ดำเนินการได้

ประธาน กรธ. กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ กรธ.ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อเสนอเรื่องเซ็ตซีโร แต่ขณะนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนใจ แต่ก็ไม่เป็นไร ในขณะนั้น กรธ.ถือว่าทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว เมื่อผู้ที่จะใช้กฎหมายบอกว่าไม่ต้องการแบบนี้ แต่อยากได้อีกอย่างก็จะไม่โต้เถียง ส่วนจะถูกวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายไม่ดีจนต้องแก้ไข ก็ไม่ขอตอบโต้

ส่วนที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า การแก้กฎหมายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนอาจกระทบกับโรดแมพเลือกตั้ง นายมีชัย กล่าวว่า ต้องไปถามนายพรเพชร แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าจะแก้อะไรบ้าง ซึ่งส่วนตัวไม่ติดใจเพราะทำเสร็จไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้อื่น หากมีการแก้ไขจนกระทบกับโรดแมพเลือกตั้งก็ไม่เกี่ยวข้องกับ กรธ. เพราะ กรธ.ทำทุกอย่างตามโรดแมพ

"คนที่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่ามีขบวนการสมคบคิดแก้กฎหมายเพื่อเลื่อนเลือกตั้ง เป็นคนที่เพ้อฝัน ไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง สังคมอย่าไปเพ้อฝันตาม" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า กฎหมายปัจจุบันได้ให้ความเท่าเทียมกับทุกพรรคการเมืองเท่าที่จะทำได้ โดยพรรคเก่าอาจได้เปรียบพรรคใหม่อยู่บ้าง แต่ กรธ.ไม่ได้คิดเรื่องเซ็ตซีโร เวลานี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร อย่าเอาความระแวงไปถามคนนั้นคนนี้แล้วเอาคำตอบไปวิจารณ์ต่อ เพราะไม่เป็นธรรม

กรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองเป็นเวลา 1 ปีนั้น เป็นข้อเสนอที่มีความเป็นไปได้ แต่มีความลำบาก การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก ซึ่งตามช่องทางขณะนี้อำนาจของคนที่จะเสนอแก้ไขได้ คือ สนช. แต่ถ้ากระทบบางเรื่องต้องไปทำประชามติ ซึ่งต้องไปดูด้วยว่าประเด็นที่จะแก้ไขเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องทำประชามติด้วยหรือไม่

ประธาน กรธ.กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการสรรหาบุคคลมาทำหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2 คนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาว่าเป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งขัดกับกฎหมายนั้น ทราบว่าขณะนี้ สนช.จะส่งเรื่องไปที่ศาลฏีกาเพื่อสอบถามเรื่องนี้ จึงอยากให้รอคำชี้แจง ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนดีกว่าคิดเอาเอง

"การหย่อนบัตรลงคะแนนสามารถเป็นได้ทั้งลับและเปิดเผย เพราะเมื่อหย่อนลงตู้ในบัตรอาจจะมีตัวบ่งบอกว่าใครเป็นผู้ลงคะแนนก็ถือว่าเปิดเผย แต่ในขณะนี้เรายังไม่ทราบว่าในที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาทำอย่างไร จึงไม่ควรวิจารณ์ หรือเดากันไปมา เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย"นายมีชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ