นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) รับทราบเพียงจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เข้าที่ประชุมในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด คงต้องรอสอบถามจาก กมธ.วิสามัญฯ ก่อน
ทั้งนี้ ส่วนตัวรับทราบข้อมูลจากข่าวว่ามีการเพิ่มอำนาจในการดักฟังข้อมูล และข้อเสนอเรื่องให้อยู่ในตำแหน่งต่อ ซึ่งกฎหมายนี้เป็นกฎหมายลูกฉบับที่ 8 แล้ว กรธ.ก็ต้องยืนยันในหลักการที่เสนอมา สนช.ก็ทำหน้าที่สมาชิกกรรมาธิการฯ ขอสงวนคำแปรญัตติ ซึ่งผลก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของที่ประชุม สนช.ในวาระ 2 และ 3
ประธาน สนช. กล่าวว่า เรื่องการดักฟังนั้นกระทบสิทธิของประชาชนอย่างแน่นอน ต้องพิจารณาว่าสมควรให้ทำได้แค่ไหน เพราะปัจจุบันโลกดิจิทัลดักฟังได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันเมื่อมองในเรื่องอาชญากรรมและอาชญากรที่ทำผิดกฎหมาย เราต้องใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือตามหลักกฎหมายทั่วไป ทุกประเทศทั่วโลกก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐว่าควรมีอำนาจแค่ไหนในการดักฟังข้อมูลของประชาชน
"เหมือนสหรัฐอเมริกา เดิมให้สิทธิเสรีภาพประชาชนมาก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ก็มีมาตรการเปิดช่องให้เข้าไปตรวจสอบได้มากขึ้น ซึ่งในประเทศไทย เราให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ในบางประเภทอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์" นายพรเพชร กล่าว
ประธาน สนช. กล่าวว่า ส่วนเรื่องการดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.นั้น แม้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.บางคนขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ก็เป็นความเห็นคนละด้านของแต่ละฝ่าย ซึ่ง กรธ.เห็นว่าคุณสมบัติต้องยึดตามกฎหมายปัจจุบัน ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ถูกสรรหามานั้นก็มองว่าเขาถูกสรรหามาโดยชอบธรรมจึงมีสิทธิที่จะอยู่ต่อ
"ต้องดูว่าองค์กรที่ถูกรีเซ็ทนั้น ถูกรีเซ็ทด้วยเหตุผลอะไร จะเอาทุกองค์กรมานั่งเปรียบเทียบกันคงไม่ได้ การร่างกฎหมาย กรธ.หรือคณะกรรมาธิการฯ ก็มีเหตุผลของเขา ทางที่ดีไปถามผู้ที่ยกร่างมาดีกว่า เพราะหากส่วนตัวพูดไปในฐานะประธาน สนช.ก็เหมือนกับว่าไปจูงใจให้สมาชิกคิดไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งโดยหลักแล้วไม่ควรพูดอะไรเลย อีกทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ก็มาจากคณะกรรมการสรรหา ไม่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจ"นายพรเพชร กล่าว
ขณะที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุ ไม่เห็นด้วยต่อประเด็นที่ กมธ.จะเพิ่มบทบัญญัติที่ให้อำนาจ ป.ป.ช.สามารถสืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ข้าราชการ และประชาชน ผ่านช่องทางโทรศัพท์, โทรสาร, โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด โดยเตรียมที่คัดค้านเพราะกังวลว่ารายละเอียดที่บัญญัติใหม่ หากไม่มีกลไกที่ดีพออาจเป็นประเด็นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิของประชาชนได้
"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ แต่เป็นเรื่องของการให้อำนาจ ซึ่งเขาอาจจะมองว่าสนุกดีเพราะได้อำนาจ แต่การเขียนกฎหมายนั้นจะทำให้อยู่ใช้ชั่วฟ้าดินสลาย เราเห็นว่าไม่ควร แต่หาก สนช.จะยืนยันก็แล้วแต่เขา ส่วนตัวประเมินว่าบางทีการเขียนแบบนั้นอาจจะเป็นผลร้ายที่จะกระทบกับคนใน สนช.เอง"นายมีชัย กล่าว