คกก.ปฏิรูปตำรวจ เสนอตั้งก.รท.รับเรื่องร้องเรียนตำรวจ-ผุดไอเดียให้ทหารเกณฑ์ สมัครเป็น ตำรวจควบคุมฝูงชนได้

ข่าวการเมือง Wednesday December 20, 2017 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมานิจ สุขสมจิตร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ซึ่งมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน มีมติให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. … โดยให้เพิ่มเติมมาตรา 106/1 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาร้องทุกข์ (ก.รท.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ก.ตร. เพื่อพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจ

"หากมีเรื่องร้องเรียนข้าราชการตำรวจให้ถือคำวินิจฉัยของ ก.รท.เป็นที่สุด และให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจ ก.ตร. หรือ ก.ตช. แล้วแต่กรณีในการสั่งการเยียวยาและแก้ไขหรือดำเนินการตามสมควร เช่น หากมีการโยกย้ายไม่เป็นธรรม และตรวจสอบพบว่าเป็นเรื่องจริงให้มีการเยียวยาหรือให้บุคคลนั้นกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม หรือจัดหาตำแหน่งที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้งานด้านบริหารงานบุคคลที่ประชุมจะพิจารณาให้แล้วเสร็จในวันที่ 27 ธ.ค.และเสนอต่อรัฐบาลในวันที่ 28 ธ.ค. ตามกรอบระยะที่รัฐบาลกำหนดไว้ เพื่อให้ทันต่อการแต่งตั้งโยกย้ายในปี 2561" นายมานิจ กล่าว

สำหรับโครงสร้าง ก.รท. ประกอบด้วย คณะกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการ และกรรมการ ประกอบด้วย รองเลขาธิการ ก.พ.ที่ได้รับมอบหมาย, ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์ ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจมาก่อน จำนวน 3 คน รวมทั้งผู้เคยเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปจำนวน 4 คน ให้ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการ และผู้บังคับการหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

นายมานิจ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้มีการหารือถึงแนวคิดที่จะให้มีตำรวจเกณฑ์ โดยให้ทำในลักษณะเดียวกับทหารเกณฑ์ แต่เมื่อที่ประชุมฯ ตรวจสอบแล้วพบว่าเรื่องนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าชายไทยต้องเกณฑ์ทหาร ไม่มีคำว่าตำรวจ ดังนั้นที่ประชุมฯ จึงพิจารณาทางออก โดยอาจจะให้ทหารเกณฑ์ที่ผ่านการเกณฑ์ทหารและฝึกอบรมมาแล้ว 2 ปี สามารถสมัครเข้าเป็นตำรวจต่อได้ แต่ไม่ให้เกี่ยวข้องกับคดี ให้อยู่ในด้านการดูแลรักษาความปลอดภัย หรือควบคุมฝูงชน เพื่อแก้ปัญหาขณะนี้ที่ตำรวจขาดแคลนถึง 7,000 นาย อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ได้มีข้อยุติ ยังต้องพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ