กมธ. ชี้ให้อำนาจ ป.ป.ช.ดักฟังเป็นไปตามหลักสากล ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ข่าวการเมือง Wednesday December 20, 2017 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมได้เปิดให้ใช้เวลาการพิจารณาอย่างเต็มที่

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 199 มาตรา โดยมีวาระสำคัญกำหนดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อหน่วยงานต้นสังกัด ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ส่วนผู้ที่ทำงานอยู่แล้วต้องยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ยังกำหนดให้กรณีคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยโดยให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดหลักเกณฑ์ของคู่สมรส, กำหนดให้มี ป.ป.ช.ส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่สนับสนุน ป.ป.ช.กลาง ในการตรวจสอบทุจริตในระดับพื้นที่ พร้อมยกเลิกกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัด ให้เหลือเฉพาะ ผอ.ป.ป.ช.จังหวัด ตัดอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช.จังหวัด ให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.กลางเท่านั้น กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และ ไต่สวนคดีให้เสร็จภายใน 1 ปี

นอกจากนี้ยังเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช.ให้สามารถสืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ข้าราชการ และประชาชน ผ่านช่องทางโทรศัพท์, โทรสาร, โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด โดยต้องเป็นไปตามดหลักเกณฑ์ให้ดักฟังได้เฉพาะคดีร่ำรวยผิดปกติ คดีทุจริตหรือกระทำผิดต่อหน้าที่ และต้องเป็นคดีที่มีความร้ายแรงต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้อธิบดีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นผู้ให้อนุญาตพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะมีอำนาจดักฟังได้ในชั้นไต่สวนคดีภายใน 90 วัน ขณะที่บทเฉพาะกาลเรื่องการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน กมธ.ให้อยู่จนครบวาระ 9 ปี ซึ่งร่างเดิมที่มาจาก กรธ.นั้นมีการรีเซตกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจบันและให้อยู่เท่าที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวถึงกรณีกมธ.ได้เพิ่มเติมอำนาจ ป.ป.ช.ให้สามารถสืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และประชาชน ผ่านช่องทางโทรศัพท์ โทรสาร โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์สื่อสารว่า ป.ป.ช.เป็นผู้เสนอเรื่องนี้มา โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องสากล ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ทำตามข้อตกลงที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี ในต่างประเทศก็มีหลายประเทศให้อำนาจ ป.ป.ช.ทำเช่นนั้นได้ และในประเทศไทยก็มีองค์กร เช่น กรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สามารถที่จะสืบค้นข้อมูลได้ ขณะที่ ป.ป.ช.มีอำนาจในการสอบสวนการทุจริต การร่ำรวยผิดปกติ และบางคดีก็โยงใยการฟอกเงินก็น่าจะให้อำนาจในเรื่องนี้ได้ อีกทั้งขณะนี้ ป.ป.ช.มีคดีจำนวนมากที่ยังไม่สามารถปิดคดีได้ การให้ ป.ป.ช.สามารถดักฟังข้อมูลได้ก็จะช่วยงานของ ป.ป.ช.ได้มาก

อย่างไรก็ตาม กมธ.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ในกรณีนี้จะเป็นการสืบค้นข้อมูลกับผู้ที่ถูกกล่าวหาและ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล จึงจะทำได้ และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวจะผ่านหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.จะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่

ด้านพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกมธ. ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าว โดยขอให้รอฟังการอภิปรายของสมาชิก สนช. ในวันพรุ่งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ