นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ในเบื้องต้น กมธ.ได้พิจารณาครบทั้ง 178 มาตราแล้ว และในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ จะเป็นการสรุปการระดมความคิดเห็นของประชาชนจากเว็บไซต์ช่วงระหว่างวันที่ 13-27 ธ.ค.
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะกมธ.วิสามัญฯ ได้มีการแก้ไข คือ เรื่องการจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง คณะกมธ.วิสามัญฯ พิจารณาจากเนื้อหาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งมาแล้วเห็นว่าหากยืนตามกรธ.อาจตีความได้ว่าไม่สามารถทำโพลได้ ดังนั้น คณะ กมธ.วิสามัญฯ จึงได้แก้ไขเนื้อหาเพื่อให้ยังสามารถทำโพลได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นการจัดทำโพลของสถาบันที่ได้รับความน่าเชื่อถือภายใต้หลักวิชาการ
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง แม้จะทำโพลได้ แต่ถูกห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการชี้นำ แต่สำหรับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนน Exit Poll ยังสามารถดำเนินการได้ปกติ เพียงแต่ห้ามเปิดเผยจนกว่าจะสิ้นสุดการออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
โฆษก กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า อีกประเด็นที่คณะกมธ.วิสามัญฯ ได้มีการแก้ไข คือ การลงคะแนนเลือกตั้งในลักษณะไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ "โหวตโน" โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นหลักการสำคัญว่าบุคคลที่สมัครเลือกตั้ง ส.ส.จะได้รับเลือกให้เป็นส.ส.ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนโหวตโน แต่ กรธ.ได้กำหนดในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้สามารถรณรงค์ให้ประชาชนโหวตโน คณะกมธ.วิสามัญฯ ไม่เห็นด้วย จึงได้ทำการแก้ไขโดยห้ามไม่ให้มีการรณรงค์ที่เป็นกิจจะลักษณะ แต่หากเป็นเพียงการพูดคุยของประชาชนตามปกติที่ไม่ได้เป็นการรณรงค์ก็สามารถกระทำได้
โฆษกคณะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งซ่อมภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป คณะ กมธ.วิสามัญฯ เห็นควรให้คงตามเนื้อหาเดิมที่ กรธ.ได้เสนอมา กล่าวคือ หากมีการเลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งใดหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป จะต้องนำคะแนนเลือกตั้งดังกล่าวมาคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ด้วย แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นเมื่อพ้นระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้งทั่วไป จะไม่มีการนำคะแนนของการเลือกตั้งซ่อมมาคำนวณเพื่อหาสัดส่วนจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อครั้งใหม่แต่อย่างใด