พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า กรอบเวลาในการเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมพที่วางไว้ ซึ่งได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้วว่าขึ้นอยู่กับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกที่ยังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งที่ผ่านมาตนและ คสช.ไม่สามารถสั่งการได้ เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนและกระบวนการตามที่ สนช.ได้แปรญัตติไว้ รวมทั้งต้องมีการถามความคิดเห็นประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ด้วย
ทั้งนี้ แม้หาก คสช.ใช้อำนาจในการสั่งการ สนช. กระบวนการต่างๆ คงดำเนินการแล้วเสร็จได้เร็ว แต่ในข้อเท็จจริงสมาชิก สนช. ยังแสดงความเห็นกันได้อย่างอิสระ แสดงให้เห็นว่า คสช.ไม่มีอำนาจสั่งการได้
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความสงบเรียบร้อยของประเทศที่เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการไปสู่การเลือกตั้งว่า ข้อมูลของรัฐบาลพบว่า ขณะนี้ภาพรวมความเรียบร้อยในประเทศถือว่าเรียบร้อยในระดับหนึ่ง แต่อาจเป็นเพราะมีกฎหมายพิเศษบังคับใช้อยู่ จึงจะต้องมองว่าในอนาคตหากไม่มีกฎหมายเหล่านี้ และใช้กฎหมายปกติ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะได้มีบทเรียนจากการเลือกตั้งมาแล้ว
ส่วนจะมั่นใจหรือไม่ว่าจะประกาศการเลือกตั้งในช่วงเดือน พ.ย.61 นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าเคยชี้แจงไปแล้วว่าอยู่ที่ขั้นตอนของกฎหมาย โดยไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง หรือ คสช. ซึ่งเมื่อใดที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับแล้วเสร็จ ก็จะนำไปสู่การประกาศเลือกตั้งตามที่ได้ระบุไว้
ขณะที่กรณีที่พรรคการเมืองเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการออกคำสั่งมาตรา 44 ว่าด้วยเรื่องการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองที่อ้างว่าขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าให้เป็นเรื่องของศาลที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการ
พร้อมกันนี้ได้ขอทุกฝ่ายอย่ามองว่าขณะนี้เป็นรัฐบาลทหาร เพราะถึงแม้ตนจะเคยเป็นทหาร แต่ ณ วันนี้ไม่ได้เป็นทหารแล้ว เพราะเกษียณราชการมาแล้วถึง 3 ปี ซึ่งต้องดูด้วยว่ามีความพยายามสร้างความเกลียดชังทหารหรือไม่ ที่สำคัญรัฐบาลในขณะนี้มาจากหลายภาคส่วน ดังนั้นแนวคิดที่ใครหรือพรรคการเมืองใดจับมือกันตามที่เป็นข่าวก็เป็นสิทธิของทุกพรรคการเมือง และหากพรรคใด มีอุดการณ์ที่ดีและเป็นที่ยอมรับของประชาชน มีสมาชิกพรรคที่ถูกต้องครบถ้วน เชื่อว่าสังคมยอมรับได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือสื่อมวลชนและประชาชนต้องเลือกอนาคตของตัวเอง เพราะตนคงไม่สามารถไปบังคับให้เลือกใครได้ และหลังจากนี้ไม่อยากให้ใช้คำว่าการต่อสู้ทางการเมือง หรือการอยากอยู่ในอำนาจต่อ เพราะยืนยันว่าเบื่อการใช้อำนาจ เนื่องจากตลอด 30 ปีที่ผ่านมาได้ใช้อำนาจทางทหารในการบังคับบัญชา จึงไม่รู้สึกว่าอยากมีอำนาจต่อไป แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องกำกับการดูแลของทุกหน่วยงาน จึงไม่ได้ใช้แนวคิดแบบทหาร แต่มีอย่างเดียวที่ทหารและการบริหารบ้านเมืองที่ใช้ร่วมกันคือการขับเคลื่อนงานไปสู่การปฎิบัติ
ส่วนกรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้มอบโอวาทให้นายกรัฐมนตรีเนื่องในวันปีใหม่ ตอนหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรีใช้กองหนุนที่มีไปจนหมดนั้น โดยส่วนตัวเข้าใจว่ากองหนุนในความหมายของ พล.อ.เปรม คือรัฐบาลได้ให้ทุกคนเข้ามาช่วยงานรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบประชารัฐ แต่ทำอย่างไรถึงจะทำเพื่อประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าประธานองคมนตรีไม่ได้สื่อความหมายในทางที่ไม่ดีหรือทำให้รัฐบาลเสียหาย เพราะที่ผ่านมาได้ให้กำลังใจรัฐบาลมาโดยตลอด แต่กองหนุนที่สำคัญที่สุด คือประชาชนที่ต้องมารวมกันแก้ทุกปัญหาของประเทศให้ได้ พร้อมขอร้องสื่ออย่านำเรื่องนี้หยิบยกมาเป็นประเด็น