พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเช้าวันนี้ ได้หารือรายละเอียดเรื่องการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีเคยแจ้งว่าจะจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นที่สำนักนายกรัฐมนตรี และดึงตัวอดีตอธิบดีกรมชลประทานมาเป็นผู้อำนวยการ
"ขณะนี้มีการตั้งหัวเอาไว้แต่ยังไม่มีโครงสร้างของหน่วยงาน วันนี้จึงมีการพิจารณาลงรายละเอียดว่า ถ้าจะแต่งตั้งบุคลากร อุปกรณ์ คนที่จะทำงานคงไม่สามารถดำเนินการได้โดยกฎหมายปกติ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44"
โดยวันนี้ได้หลักการคร่าวๆ ว่าจะต้องตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของหลายๆ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับน้ำซึ่งกระจายอยู่ในหลายกระทรวงว่ามีงานใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานของสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเอามาเป็นตัวตั้งแล้วก็จะดึงคนมาทำงาน คาดว่าอีกสักระยะจึงจะสามารถออกเป็นคำสั่งได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดไปแล้ว
พล.ท.สรรเสริญ ยังกล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คสช. ใช้อำนาจพิเศษเป็นการริดลอนสิทธิว่า วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนเรื่องหลักเกณฑ์การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า การจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะต้องเข้าข่ายอยู่ในเรื่องสำคัญคือเป็นเป็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ไม่ว่าจะปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบงาน ปฏิรูปโครงสร้างองค์กร, เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคง, เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้กับสังคมและประชาชน และเป็นการแก้ไขปัญทางด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ อำนาจตามมาตรา 44 มีผลทั้งในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการ โดยในทางนิติบัญญัติ หมายความว่า คำสั่งที่ออกมามีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากฎหมายฉบับหนึ่ง ในทางบริหารเป็นการสั่งให้ข้าราชการปฏิบัติ หรือ ไม่ปฏิบัติอะไรสักอย่าง เช่นที่ผ่านมามีการปรับ โยกย้ายข้าราชการเพื่อให้มีการตรวจสอบ ในทางตุลาการ ใช้ในการตัดสินคดีได้
แต่ที่ผ่านมา คสช.ยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายงานด้านตุลาการเลยแม้แต่กรณีเดียวเพียงแต่เป็นการทำให้เรื่องนั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีแต่ทางนิติบัญญัติกับทางบริหารที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปแก้ปัญหา
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 คำนึงเท่าที่จำเป็น เป็นเรื่องที่เร่งด่วน ถ้าล่าช้าจะไม่ทันการณ์ แล้วจะเกิดความเสียหาย จึงจะนำมาตรา 44 มาใช้ แต่ถ้าจะไม่ใช้มาตรา 44 ก็ออกเป็นกฎหมาย ออกเป็นพระราชบัญญัติ ออกเป็นพระราชกำหนด หรือออกเป็นคำสั่งทางการบริหารโดยมีมติ ครม.ยอมรับ
"จะใช้เป็นเครื่องมือปฐมพยาบาล เฉพาะกิจ เฉพาะหน้า...ยืนยันว่าเมื่อใดที่จบภารกิจตามโรดแมพคงจะมีการออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งของ คสช.ที่ผ่านมา"พล.ท.สรรเสริญ กล่าว