ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยกคำร้อง"สมชัย" ชี้ปมเซตซีโร่กกต. ไม่ขัดรธน.

ข่าวการเมือง Friday January 12, 2018 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการฯ และโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สืบเนื่องจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการกำหนดให้ประธาน กกต. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่มีผลใช้บังคับ ตามมาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 ลงวันที่ 5 กันยายน 2560 เรื่อง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรค (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ... มาตรา 56 มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น โดยศาลรัฐธรรมนูญมีผลคำวินิจฉัย สรุปได้ดังนี้

มาตรา 273 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า “ให้...ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ...ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว..." นั้น เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญมอบให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นองค์กรผู้มีหน้าที่พิจารณากำหนดการดำรงตำแหน่งต่อไปของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หรือการพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงเหตุยกเว้นคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ ซึ่งการจะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดนั้น อาจกำหนดได้หลายรูปแบบ เช่น ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือให้เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติดำรงตำแหน่งต่อไปได้ หรือให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด ทั้งนี้ การจะกำหนดในรูปแบบใดจะต้องคำนึงถึงเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสมทั้งในเรื่ององค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของแต่ละองค์กร และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันแล้ว เห็นว่า การที่มาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 กำหนดให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนั้น จึงเป็นการกำหนดรูปแบบหนึ่งในสามรูปแบบที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญให้พิจารณากำหนดได้ โดยคำนึงถึงเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสมขององค์กร ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว

ส่วนที่ผู้ร้องเรียนอ้างว่า มาตรา 70 ของพ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะเป็นการมีผลย้อนหลังหรือกระทบต่อสิทธิของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนนั้น เห็นว่า การสมัครเข้าดำรงตำแหน่งของผู้ร้องเรียนและคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ มิใช่เป็นการเข้ามาประกอบอาชีพเพื่อแสวงหาสิทธิประโยชน์เหมือนการสมัครเข้าประกอบอาชีพอื่นๆ ซึ่งผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งย่อมทราบดีตั้งแต่ต้นแล้ว การดำรงตำแหน่งของผู้ร้องเรียนและคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงไม่ใช่สิทธิดังที่อ้าง ทั้งการให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่ใช่เป็นการลงโทษ หากแต่เป็นการให้พ้นตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย

ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า มาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน พ้นจากตำแหน่งเมื่อพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับนั้น มิได้ขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่อย่างใด จึงให้ยุติเรื่องร้องเรียน และแจ้งผลการวินิจฉัยให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ