นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เตรียมขยายเวลาการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า ตามปกติการยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายสามารถทำได้ แม้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับก็มีการกำหนดเช่นนั้น เนื่องจากสภาเห็นว่าหากบังคับใช้ทันทีอาจมีผลกระทบ จึงสามารถขยับเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ 6 เดือน บางฉบับขยายเวลาการบังคับใช้ 1 ปี หรือบางฉบับไม่มีกรอบเวลา แต่ในการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปนั้นต้องมีเหตุผลและสามารถอธิบายต่อสังคมได้
ในขณะที่กฎหมายลูก ส.ส.จะมีการขยายเวลาหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบ เพราะต้องขึ้นอยู่กับกรรมาธิการฯ ดังนั้นจึงไม่อยากแสดงความคิดเห็นกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และที่สำคัญต้องรอฟังเหตุผลของกรรมาธิการฯ ก่อน
นายมีชัย เปิดเผยด้วยว่า วันนี้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ได้มาพบเพื่อพูดคุยเรื่องที่มาของ ส.ว.ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดการบล็อกโหวต ซึ่งตนได้แสดงความเห็นว่าในการลดจำนวนกลุ่มอาชีพ กับการเลือกภายในกลุ่มกันเอง จะทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ส่วนกรรมาธิการฯ จะเห็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการฯ
ส่วนที่นายสมชาย เสนอให้การเปิดรับสมัคร ส.ว. ทำได้ 2 ช่องทาง คือ สมัครด้วยตนเอง และผ่านองค์กรนั้น เห็นว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนุญกำหนดให้ทุกคนสามารถลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ ดังนั้นการไปกำหนดให้ยื่นผ่านองค์กรอาจเป็นการจำกัดสิทธิ
นายมีชัย ยังกล่าวถึงการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก ป.ป.ช.ในประเด็นยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เปิดทางกรรมการป.ป.ช.อยู่ต่อจนครบวาระนั้นว่า เป็นเรื่องดี เพราะจะได้ข้อยุติในประเด็นที่เกิดข้อสงสัย ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนุญเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีการปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของส.ส.โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน คาดว่า อีก 1-2 วันน่าจะทราบเหตุผลที่ชัดเจน แต่การปรับแก้ไม่ถือว่าผิดหลักกฎหมาย เพราะบางฉบับก็มีผลบังคับใช้วันนั้นเลย แต่บางฉบับก็จะทิ้งระยะเวลาไว้ 30 วัน 60 วัน หรือ แม้แต่ 120 วัน ก็เคยมี เช่น กฎหมายธุรกิจรักษาความปลอดภัยเอกชน ซึ่งทิ้งเวลาไว้นานกว่า 1 ปี เพื่อเตรียมการ หรือคลี่คลายปัญหาที่อาจจะไม่ได้คิดมาก่อน เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาหรือเกิดความสะดุด
ส่วนกรณีกฎหมายเลือกตั้งจะเลื่อนเพราะสาเหตุใด ยังไม่ทราบเหตุผล เพราะยังไม่เคยเห็นตัวร่างทั้งฉบับว่าจะก่อให้เกิดภาระอะไรหรือไม่ ขณะเดียวกันไม่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญเขียนเพียงว่า ให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับสุดท้ายมีผลใช้บังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถตอบได้ว่า กรณีดังกล่าวจะกระทบโรดแมพการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะต้องรอฟังเหตุผล และถ้ายอมรับแล้วว่าเป็นเหตุผล ก็ไม่ควรต้องกลัวอะไร เว้นแต่เหตุผลนั้นฟังแล้วไม่เข้าท่า ซึ่งกรณีนี้จะปรึกษารัฐบาลหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับสนช.หรืออาจจะประสานปรึกษาเป็นการภายใน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการประสานมา
นายวิษณุ ยังกล่าวถึง การจัดทำกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ที่นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในวันอังคารนี้(23 ม.ค.) ว่า ในเบื้องต้นจะรอความเห็นและร่างกฎหมายของทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพร้อมเลื่อนการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นในสัปดาห์ถัดไป (30 ม.ค.)