พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายว่า ที่ประชุมมีมติให้แบ่งกลุ่มที่มา ส.ว.แบบใหม่ จากเดิมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แบ่งไว้เป็น 20 กลุ่ม ให้เปลี่ยนเป็น 15 กลุ่มสังคม ประกอบด้วย 1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.กลุ่มการศึกษา 4.กลุ่มการสาธารณสุข 5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก ทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 6.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
7.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 8.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 9.กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 10.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนา นวัตกรรม 11.กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพลภาพ 12. กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ 13.กลุ่มศิลปะวัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 14.กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ และ 15.กลุ่มอื่น ๆ
ส่วนวิธีได้มาซึ่ง ส.ว.ให้มีการเลือกกันเองในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ แต่ให้ยกเลิกวิธีการเลือกไขว้ตามที่ กรธ.เสนอมา โดยเปลี่ยนเป็นการให้ผู้สมัครเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งทั้ง 15 กลุ่มจะได้สมาชิกกลุ่มละ 13 คน รวมทั้งหมด 195 คน ส่วนเศษที่เหลืออีก 5 คน ให้กลุ่มที่มีผู้สมัครมากที่สุดได้รับจำนวนสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มขึ้นอีกกลุ่มละ 1 คน เรียงตามลำดับ
ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ ยังกำหนดวิธีป้องกันการทุจริตหรือการฮั้วกันในมาตรา 40 ไว้ว่า การเลือกกันเองของผู้สมัครแต่ละกลุ่ม หากมีผู้สมัครที่ไม่ได้รับการเลือกจากสมาชิกผู้ใดเลยมากกว่า 10% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมดในกลุ่มนั้น ให้สันนิษฐานว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น และสั่งให้ดำเนินการเลือกกันเองในขั้นตอนนั้นใหม่ อย่างไรก็ตาม มีกรรมาธิการในสัดส่วนของ กรธ.สงวนคำแปรญัตติ ขอให้คงเนื้อหาตามร่างเดิม