กมธ.หนุนขยายเวลาบังคับใช้กม.ลูกเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วัน ช่วยพรรคทำกิจกรรมได้เต็มที่

ข่าวการเมือง Wednesday January 24, 2018 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายวิทยา ผิวผ่อง เป็นประธานฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ประชุม สนช.จะมีการพิจารณาวาระ 2-3 ในวันพรุ่งนี้ (25 ม.ค.)

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้ทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีมติยืนยันตามเนื้อหาเดิมที่ กมธ.เคยมีมติไว้ทุกอย่าง ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขใดๆ และยังยืนยันหลักการตามมาตรา 2 เรื่องการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายให้มีผลเมื่อพ้นจาก 90 วันนับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่มีการแก้ไขหลักการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 120 วันตามที่มีกระแสข่าว

"ให้ผู้ที่เสนอขยายเวลาเป็น 120 วันไปสงวนคำแปรญัตติต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 25 ม.ค. โดยประเด็นที่ที่ประชุมคาดว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างมากมี 3 เรื่อง คือ 1.มาตรา 2 เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 90 วัน 2.มาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิการเข้าสมัครรับราชการสังกัดรัฐสภาเป็นเวลา 2 ปี ต่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ 3.การให้แสดงมหรสพระหว่างการหาเสียงได้ ซึ่งยังเชื่อมั่นว่าที่ประชุม สนช.จะให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันที่ 25 ม.ค." นายกิตติศักดิ์ กล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ สูกวาทิน โฆษก กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อเตรียมกำหนดตัวบุคคลทำหน้าที่นำเสนอเหตุผลการแก้ไขกฎหมายในแต่ละมาตรา โดยสรุปจะมีแก้ไขทั้งสิ้น 30 มาตรา ส่วนการเสนอแก้ไขมาตรา 2 ที่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วันนั้น ยืนยันว่ามีเหตุผลจริงๆ เป็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง

"ขอติงการนำเสนอข่าวของสื่อที่หลงประเด็นไปตามพรรคการเมืองที่จ้องโจมตีประเด็นการยื้อเวลาอย่างเดียว แต่ไม่มองเรื่องความพยายามปฏิรูปพรรคการเมืองให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริงในการเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค กำหนดตัวผู้สมัครอย่างแท้จริงตามหลักการไพรมารีโหวต ที่พรรคการเมืองเขาไม่อยากปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอะไร" นายทวีศักดิ์ ระบุ

รายงานข่าว แจ้งว่า สำหรับความเห็นของสมาชิก สนช.เรื่องการแก้ไขมาตรา 2 ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายให้มีพ้นหลังจากพ้น 90 วัน นับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัวทำกิจกรรมทางการเมือง เช่น การเปิดประชุมพรรค การทำไพรมารีโหวต การส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ได้ทันตามกรอบเวลา โดยเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป

ส่วนข้อเสนอให้มีการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 120 วัน ตามที่มีผู้สงวนคำแปรญัตตินั้น เริ่มมีสมาชิก สนช.เห็นคล้อยกับแนวทางนี้มากขึ้น เพราะเกรงว่าระยะเวลา 90 วันที่ขยายไปอาจไม่เพียงพอ เพราะขั้นตอนระบบไพรมารีโหวตนั้น พรรคการเมืองต้องใช้เวลาดำเนินการมากในการคัดเลือกผู้สมัครในพื้นที่ จึงควรเผื่อเวลาให้มีมากขึ้นจาก 90 วัน

อย่างไรก็ตาม เสียง สนช.ที่สนับสนุนให้ขยายเวลา 90 วัน ยังมีสัดส่วนมากกว่าในระดับหนึ่ง เพราะล่าสุดท่าทีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังยืนยันให้ขยายเวลาเพียง 90 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกโจมตีไปมากกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ