การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วาระ 2-3 เมื่อวานนี้ ใช้เวลาอภิปรายรายมาตรา รวมจำนวน 178 มาตรา เป็นเวลายาวนานร่วม 12 ชั่วโมง ก่อนจะมีการลงมติเห็นชอบ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน ซึ่งจะส่งผลให้โรดแมพการเลือกตั้งถูกขยับไปเป็นช่วงต้นปี 62 จากเดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย.61 ขณะที่จะมีการขยายเวลาเปิดคูหากาบัตรเลือกตั้งเป็นในช่วงเวลา 7.00-17.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมสนช.มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ตามที่กรรมาธิการ (กมธ.) ได้มีการแก้ไขถึง 30 มาตรา ก่อนจะมีการลงมติเห็นชอบประเด็นสำคัญที่กรรมาธิการแก้ไข อาทิ มาตรา 2 เห็นชอบให้ขยายเวลาการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยเห็นชอบให้ขยายเวลา ด้วยคะแนน 203 เสียง ต่อ 7 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง และเห็นชอบ ขยายเวลา 90 วัน ด้วยคะแนน 196 เสียง ขยายเวลา 120 วัน ด้วยคะแนน 12 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง
ทั้งนี้ การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้พรรคการเมือง มีเวลาเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้โรดแมพการเลือกตั้ง ต้องขยับไปจากเดิมตามกรอบเวลาที่น่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.61 ไปเป็นช่วงเดือนก.พ. หรือมี.ค.62
นอกจากนี้ ยังมีมติเสียงข้างมากไม่ตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สำหรับบุคคลที่ต้องการสมัครรับราชการ พนักงานหรือลูกจ้างส่วนราชการสังกัดรัฐสภา แต่ยังคงตัดสิทธิการได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่นบางตำแหน่งเพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 2 ปีไว้อยู่ เว้นแต่มีเหตุอันสมควร ใน มาตรา 35 ที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเพิ่ม
ขณะเดียวกันสนช. ยังมีมติเห็นชอบห้ามรณรงค์โหวตโน และเห็นชอบให้พรรคการเมืองจัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริง ประกอบการหาเสียงได้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนรับฟังการหาเสียงมากขึ้น แต่เพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบให้จำกัดวงเงินไม่เกินร้อยละ 20 ของงบหาเสียงของเขตและของพรรคตามที่กรรมการการเลือกตั้งกำหนด
สนช. ลงมติเห็นชอบขยายเวลาในการเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งจากเดิม 08.00 น. ถึง 16.00 น. เป็นตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 17.00 น. หลังจากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 213 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาว่ามีประเด็นใด ที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะต้องส่งความเห็นกลับมาถึง สนช. ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมาย เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาอีกครั้ง หรือหากไม่มีประเด็นใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประธานสนช. จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป