พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลง ในการประชุมเต็มคณะ (Plenary) หัวข้อ : “ค่านิยมร่วมและเป้าหมายเดียวกันของอินเดีย-อาเซียน” (India-ASEAN Shared Values, Common Destiny) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน - อินเดีย ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดียว่า หัวข้อ “ค่านิยมร่วมและเป้าหมายเดียวกันของอินเดีย-อาเซียน”ว่า ในครั้งนี้สะท้อนผ่าน 3 เรื่องเด่นชัดที่สุด คือ (1) ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกัน (2) การแบ่งปันวัฒนธรรมและนวัตกรรมกันและกัน และ (3 ) การส่งเสริมระบบภูมิภาคนิยม (regionalism) และพหุภาคีนิยม (multilateralism) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งอธิบายได้ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง อาเซียนและอินเดียต้องมุ่งสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจร่วมกัน พวกเราเคยตั้งเป้าขยายปริมาณการค้าอาเซียน-อินเดียให้ได้ 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2022 ขณะนี้ ได้เพียงประมาณ 56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงควรเร่งใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เช่น อินเดียอาจพิจารณาลดภาษีให้กับยางพาราและน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นสินค้าที่อาเซียนหลายประเทศส่งออก และอาจลดกฎระเบียบและขั้นตอนในการทำการค้าและธุรกิจ ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำคัญ นอกจากนี้ เร่งหาข้อสรุปความตกลงการค้าเสรี Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP หรือ อาร์เซป) เพื่อให้อาร์เซปเป็นความตกลงทันสมัย มีมาตรฐานสูง มีความสมดุลซึ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเรามั่งคั่งร่วมกัน
ประการที่สอง การแบ่งปันวัฒนธรรมและนวัตกรรมกันและกัน อาเซียนและอินเดียมีความเชื่อมโยงทางศิลปวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานผ่านทางอักษรศาสตร์ ศาสนา และศิลปวิทยาการต่าง ๆ ไทยจึงยินดีอย่างยิ่งที่ส่งคณะทางวัฒนธรรมเข้าร่วมการแสดงในงานเทศกาลรามายณะในช่วงนี้ นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นต้นกำเนิดของ นวัตกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้หลายประการ อาทิ ระบบการปกครอง กฎหมาย ดาราศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศ การเดินเรือ สถาปัตยกรรม และอายุรเวช ปัจจุบัน อินเดียยังเป็นแหล่งนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศที่สำคัญของโลก โดยมีชุมชนอินเดียในอาเซียนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความเชื่อมโยงภาคประชาชนในมิติต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมและนวัตกรรมผ่านประชาชนสู่ประชาชนอีกด้วย ดังนั้น อาเซียน-อินเดียใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี และประชาชนระหว่างกันผ่านการพัฒนาชุมชนเมืองที่มีความเป็นอัจฉริยะ (smart cities) โดยขอเสนอให้อาเซียนและอินเดียพิจารณาจัดตั้งเครือข่ายของ SMART Cities-Cultural Centres ประกอบด้วยเมืองขนาดเล็ก และกลาง ที่ร่วมกันพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับเชื่อมโยงระดับประชาชนผ่านวัฒนธรรมและ อารยธรรม ในอนาคตประชาคมอาเซียนจะเน้นเรื่องการเป็นภูมิภาคที่มีความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น และโดยที่ไทยกำลังเร่งการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมผ่านนโยบายประเทศไทย 4.0
ประการสุดท้าย อาเซียนและอินเดียมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิด ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และต่างมีความเชื่อมั่นในระบบภูมิภาคนิยม และพหุภาคีนิยม ต้องใช้ประโยชน์จาก กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในภูมิภาคที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น อาเซียน-ซาร์ค (SAARC) / แม่โขง-คงคา / บิมส์เทก (BIMSTEC) รวมไปถึงความร่วมมือในภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก โดยเน้นการส่งเสริมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) ซึ่งไทยพร้อมที่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในอนุภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และนโยบายไทยบวกหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ควรร่วมมือกันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกองทุนอาเซียน-อินเดีย สีเขียว (ASEAN-India Green Fund) ที่มีรองรับแล้ว ไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมรับแนวคิดจากอินเดียไปขับเคลื่อนต่อไป
นอกจากนี้ ในการประชุมระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติเมื่อปลายปีที่แล้วก็ได้มีการเสนอแนวคิดการจัดตั้งศูนย์อาเซียนสำหรับให้การศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Center for Sustainable Development Studies and Dialogue) จึงหวังว่า อินเดียซึ่งมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสามารถแบ่งปันกับอาเซียนในบริบทของความร่วมมือใต้-ใต้ด้วย