ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับพวกรวม 2 คน ในวันที่ 31 ม.ค.61 เนื่องจากใช้กำลังและอาวุธอย่างรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 กรณีเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณรอบรัฐสภา ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และบริเวณใกล้เคียง ทำให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจอย่างร้ายแรง ทั้งที่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กรณีจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องทั้ง 250 คน ได้รับความเสียหาย
โดยคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทุกราย (ยกเว้นผู้ฟ้องคดีที่ 45) และผู้ร้องสอด เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว ได้นำอาวุธปืน วัตถุระเบิดชนิดต่าง ๆ อันมีอันตรายโดยสภาพมาใช้ในการสลายการชุมนุม โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานของสากลซึ่งต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่สามารถเจรจาต่อรองได้จึงจะใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน และผู้ร้องสอด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับการสั่งการให้ปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมนุมตามขั้นตอนแผนกรกฎ 48 แต่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดรายใดได้รับเงินทดแทนเยียวยาความเสียหายจากหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ม.ค.55 ไปแล้วเพียงใด ให้คงสิทธิรับค่าทดแทนความเสียหายที่เหลือตามคำพิพากษาเพียงนั้น และหากภายในสองปีนับแต่มีคำพิพากษาผู้ฟ้องคดี ผู้ร้องสอดรายใดยังคงต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจาการกระทำละเมิดศาลยังสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนนี้เพิ่มเติมได้อีก