นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ได้รับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากสภานิติบัญญัติ (สนช.) แล้ว โดยได้นำเข้าที่ประชุม กรธ.เพื่อพิจารณาในวันนี้
พร้อมสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอย่างละเอียด เนื่องจากที่ประชุม สนช.ได้แก้ไขในหลายประเด็น โดยเฉพาะในร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ไม่ทราบว่า สนช.เข้าใจความมุ่งหมายของ กรธ.ที่ต้องการให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นสภาประชาชนหรือไม่ ทั้งการแบ่งกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม และให้มีผู้สมัครอิสระเพียงประเภทเดียว กรธ.จึงจะต้องไปชี้แจงกับ สนช. รวมถึงกรณีที่ สนช.ยกเลิกระบบเลือกไขว้ ซึ่งจากการพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เห็นพ้องว่า ระบบนี้จะทำให้เกิดการฮั้วกันได้ยาก จึงยังไม่อาจพูดได้ว่า ประเด็นเหล่านี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่มองว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือหากขัดกับรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็ไม่มีอำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
สำหรับแนวโน้มการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย นายมีชัย กล่าวว่า เป็นไปได้ทุกแนวทาง ซึ่งส่วนตัวไม่อยากชี้นำ เพราะอยากให้เป็นการพิจารณาของ กรธ. และจะพยายามส่งความเห็นกลับไปยัง สนช.ภายในวันที่ 9 ก.พ.นี้ และส่วนตัวเชื่อว่า ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ สนช.คว่ำร่างกฎหมาย เพราะหากกรรมาธิการร่วมมีความเห็นเช่นไร สนช.ก็น่าจะเห็นพ้องเช่นนั้น มิฉะนั้นหาก สนช.คว่ำร่าง สนช.ก็จะต้องรับผิดชอบ
ประธาน กรธ.ยังกล่าวถึงกรณีที่ สนช.มีมติขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ว่า หาก สนช.เห็นความจำเป็น กรธ.ก็ไม่สามารถไปแย้งในแง่ของรัฐธรรมนูญได้ แต่ยอมรับว่าหากไม่แก้เงื่อนเวลาดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำไพรมารีโหวต จนทำให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ทัน หรือส่งได้ไม่ครบ เนื่องจากเป็นกติกาใหม่ และต้องใช้เวลาดำเนินการ