นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งข้อโต้แย้งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 2 ฉบับมาให้ สนช.วันพรุ่งนี้ (9 ก.พ.) จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายสัปดาห์หน้า ซึ่งมีสัดส่วน กรธ. 5 คน, สนช. 5 คน และ กกต. 1 คน
ส่วนในชั้นกรรมาธิการร่วมจะทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากมติของ สนช. นั้น ประธาน สนช. ระบุว่าไม่จำเป็นต้องยืนตามความเห็นเดิมของ สนช.ทั้งหมด เพราะการตั้งกรรมาธิการร่วมก็เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน และผ่อนคลายความเห็นเดิม ดังนั้นบางประเด็นอาจมีการเจรจาเปลี่ยนแปลงได้
โดยในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีประเด็น เช่น เรื่องการจัดมหรสพระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง, การจำกัดสิทธิผู้ที่ไม่มาลงคะแนนเลือกตั้ง และการขยายเวลาการลงคะแนน ซึ่งคงมีการหารือปรับแก้ และมีบางประเด็นที่อาจจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของ กรธ.
แต่มีประเด็นเล็กน้อยที่ กรธ.ท้วงติงว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ คือ เรื่องการให้คนไปช่วยผู้พิการลงคะแนน เพราะการลงคะแนนต้องเป็นความลับ ซึ่งคงได้มีการหารือในประเด็นนี้เพื่อพิจารณาปรับแก้ ซึ่งไม่น่าจะถึงขั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยที่มาของ ส.ว. กรธ.อ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกลุ่ม เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบกลุ่ม และการโหวตตรงหรือเลือกไขว้ ที่อ้างว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ป้องกันการฮั้วกันเป็นประเด็นใหญ่
"ประเด็นร่างกฎหมายลูก ส.ส. ผมว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่ ส.ว.มีประเด็นมากหน่อย ซึ่ง สนช.ไม่ได้มองว่าต้องยืนตามความเห็นเดิมของ สนช. เปิดให้ตั้งกรรมาธิการ เพราะต้องการให้ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน กฎหมายไม่ได้ดำหรือขาว เปลี่ยนแปลงได้ เช่น กำหนดเลือกตั้ง เวลา 7.00-17.00 อาจเจรจาหรือเปลี่ยนแปลง หรือยืนก็ทำได้ และเรื่องมหรสพอาจเลิกก็ได้" นายพรเพชร กล่าว
ส่วนการพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เบื้องต้น สนช.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งทั้ง 2 ร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่หลังแก้ในชั้นกรรมาธิการร่วมหากเห็นว่ามีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็เป็นอำนาจของ สนช.ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้
สำหรับข้อกังวลว่าหลังการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม อาจมีการคว่ำร่างกฎหมายในชั้นการพิจารณาของ สนช.ได้นั้น นายพรเพชร เชื่อว่าทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก แต่ก็เป็นสิทธิของสมาชิก และส่วนตัวเชื่อมั่นว่าความเห็นต่างเริ่มมีความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว จึงคิดว่าคงไม่มีการคว่ำร่างกฎหมาย และไม่เห็นด้วยที่จะมีการคว่ำร่างกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเทคนิคทางกฎหมายในการยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไป
ส่วนกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อ้างว่ามี สนช.โทรไปล็อบบี้นั้น นายพรเพชร ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการล็อบบี้ เพราะจากที่รับฟังเนื้อหาเป็นเพียงการพูดคุยปกติ และไม่มีนัยที่กระทบต่อการตั้งกรรมาธิการร่วม