นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ข้อโต้แย้งของ กรธ.ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีการแก้ไขในชั้น สนช.มี 4 ประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 35 เรื่องการจำกัดสิทธิในการได้รับแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งข้าราชการ, มาตรา 73 การจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงในการหาเสียงเลือกตั้ง, มาตรา 86 การขยายระยะเวลาในการออกเสียงลงคะแนนจากเดิม 8.00-16.00 น. เป็นเวลา 7.00-17.00 น. และมาตรา 92 การให้บุคคลอื่นหรือเจ้าหน้าที่ช่วยคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุออกเสียงลงคะแนนแทน โดยเห็นควรให้ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หาวิธีการและเครื่องมือมาดำเนินการ ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นเป็นปัญหาเชิงเทคนิค ไม่น่าจะยากที่จะหารือให้ได้ข้อสรุป
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น กรธ.เห็นแย้ง 3 ประเด็น คือ มาตรา 11 เรื่องการเปลี่ยนแปลงจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่มที่ถือว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ, มาตรา 13 การแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท และการให้ผู้สมัครในแต่ละประเภทเลือกกันเอง ซึ่งแปลกปลอมจากสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ รวมถึงมาตรา 42 ร่างมาตรา 43 และร่างมาตรา 44 ที่ยกเลิกการเลือกไขว้ ซึ่ง กรธ.หวั่นว่าจะทำให้เกิดการฮั้วบล็อกโหวตหรือสมยอมกัน จึงไม่ตรงต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
นายอุดม กล่าวว่า กรธ. ได้มีมติเสนอรายชื่อ กรธ.เข้าไปเป็นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ในสัดส่วน กรธ. สำหรับพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย โดยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้พล.อ.อัฎฐพร เจริญพานิช, นายภัทร คำพิทักษ์, นายศุภชัย ยาวะประภาษ, นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และนายนรชิต สิงหเสนี เป็นกรรมาธิการ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้นายอัชพร จารุจินดา, นายชาติชาย ณ เชียงใหม่, นายปกรณ์ นิลประพันธ์, นายอภิชาต สุขัคคานนท์ และนายอุดม รัฐอมฤต ร่วมเป็นกรรมาธิการ ซึ่งมีกรอบเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน