พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเรื่องการกำหนดโทษอาญาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานที่จะตรากฎหมายควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และรัฐควรจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือเป็นอุปสรรค เพื่อไม่ให้เป็นภาวะแก่ประชาชน
"เนื่องจากมีกฎหมายหลายเรื่องที่ไม่ได้มีความรุนแรง แต่ยังมีโทษอาญาอยู่ทำให้เป็นคดีความรกศาล จึงเห็นควรให้ปรับโทษอาญาให้เป็นโทษอย่างอื่น" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงกำหนดให้เรื่องที่ต้องมีโทษอาญาจะต้องกระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีต่อประชาชนอย่างร้ายแรง มีผลกระทบต่อส่วนรวม หรือเป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่เพียงพอที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพ แต่ถ้ามีเพียงโทษปรับ หรือโทษจำคุกที่เปรียบเทียบเป็นค่าปรับได้ ให้ถือว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง
ที่ประชุมฯ มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปออกกฎหมายกลาง จะได้ไม่ไปแก้กฎหมายที่มีอยู่มากมายหลายฉบับ ซึ่งจะกำหนดโทษปรับทางปกครอง ไม่ใช่โทษปรับทางอาญาที่มีการบันทึกประวัติเอาไว้ด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ข้อสังเกตุว่าอาจถูกมองเอื้อประโยชน์ต่อคนมีฐานะ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะคดีดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้มีโทษร้ายแรง
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังให้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมายกรณีการกระทำความผิดที่มีโทษคล้ายกันแต่ร้ายแรงต่างกัน เช่น กรณีลักทรัพย์กับฉ้อโกง ตลอดจนการแยกโทษของนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป เว้นแต่มีหลักฐานชี้ว่ากรรมการผู้มีอำนาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว