นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวภายหลังที่ประชุม สนช.มีมติตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยยืนยันว่า โอกาสที่ สนช.จะคว่ำร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะจะต้องใช้คะแนนเสียงถึง 166 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 248 เสียง ประกอบกับไม่มีประเด็นใดที่จะนำไปสู่ปัญหาการคว่ำร่างกฎหมาย เพราะเชื่อว่ากรรมาธิการร่วมฯ น่าจะตกลงกันได้ โดยเฉพาะร่างกฎหมาย ส.ส. ดังนั้นจึงสามารถปิดประตูการคว่ำร่างกฎหมาย ส.ส.ได้ เช่นเดียวกับร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ กรธ.น่าจะเจรจากันได้
แต่ยอมรับว่า หากเกิดเหตุการณ์การคว่ำร่างกฎหมายขึ้นจะต้องเป็นความรับผิดชอบของ สนช. และจะต้องชี้แจงสังคมให้ได้ รวมถึงยังรับประกันว่า หลังจากนี้จะไม่มีการปรับแก้กฎหมาย เพื่อขยายระยะเวลาการเลือกตั้งอีกแล้ว เพราะการแก้ไขของกรรมาธิการร่วมฯ จะแก้ไขได้เฉพาะประเด็นที่มีข้อโต้แย้งมาเท่านั้น ดังนั้นกรอบเวลาการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งระยะเวลานี้ถือเป็นกรอบเวลาสูงสุด
ประธาน สนช. ยืนยันว่า การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของ สนช.นั้น ได้พิจารณาอย่างดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หรือความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง
พร้อมวิงวอนไปยังกลุ่มต่าง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง โดยขอให้รักษาบรรยากาศของบ้านเมืองไม่ให้มีความวุ่นวาย หรือ ขัดแย้ง เพื่อเตรียมความพร้อมนำไปสู่การเลือกตั้ง
ในวันนี้ ที่ประชุมสนช.ได้มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือ โดยกรรมาธิการร่วมแต่ละชุดจะมีจำนวน 11 คน และมีระยะเวลาพิจารณาปรับแก้ไขร่างกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวตามข้อทักท้วงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันนี้ (15ก.พ.) ก่อนจะส่งให้ สนช. พิจารณาอีกครั้งภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้
หาก สนช.มีมติไม่เห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ของสมาชิกหรือ 166 เสียง จะถือว่าร่างกฎหมายเป็นอันตกไป และเริ่มกระบวนการยกร่างใหม่
สำหรับ กมธ.ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกอบด้วย สัดส่วน สนช.จำนวน 5 คน คือ นายวิทยา ผิวผ่อง, นายมหรรณพ เดชวิทักษ์, นายชาญวิทย์ วสยางกูร, นายเจตน์ ศิรธรานนท์ และนายสมชาย แสวงการ สัดส่วนของ กรธ.จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายภัทระ คำพิทักษ์, นายธนวัฒน์ สังข์ทอง, นายศุภชัย ยาวะประภาษ, พล.อ.อัฏฐพร เจริญพาณิช และนายนรชิต สิงหเสนีย์ และสัดส่วน กกต. คือ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.
ส่วน กมธ.ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ประกอบด้วย สัดส่วนของ สนช. จำนวน 5 คน คือ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์, พล.อ.อู้ด เบื้องบน, พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ, นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และนายสมชาย แสวงการ สำหรับสัดส่วนของ กรธ.จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่, นายอัชพร จารุจินดา, นายอุดม รัฐอมฤต, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ และนายอภิชาต สุขัคคานนท์ และสัดส่วน กกต. คือ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.